การบริหารจัดการหนี้สิน กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นในชีวิตของเรา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีหนี้หลายประเภท การปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นทางเลือกที่หลายคนจำเป็นต้องพิจารณาถึง แต่คำถามที่ตามมา คือการปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร? ช่วยให้สถานะทางการเงินดีขึ้นได้อย่างไร? และที่สำคัญการปรับโครงสร้างหนี้จะส่งผลต่อประวัติการเงินของคุณหรือไม่?
วันนี้ fin tips by ttb จะพาคุณไปทำความรู้จักกับการปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร มีข้อดีอย่างไรบ้าง การปรับโครงสร้างหนี้ เสียประวัติไหม รวมถึงสัญญาณเตือน และขั้นตอนในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ว่ามีอะไรบ้าง ในบทความนี้มีคำตอบมาให้
การปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร
การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อให้คุณยังสามารถชำระหนี้ได้ตรงตามนัด หรือไม่ผิดนัดชำระ เพราะการผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้ลูกหนี้ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และยังส่งผลต่อประวัติเครดิต เช่น การค้างจ่ายในข้อมูลเครดิตบูโร อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เสียประวัติ การรวมหนี้และปรับโครงสร้างใหม่ โดยการลดค่างวดโดยการขยายเวลาจ่ายหนี้ หรือเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายหนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยคุณลดภาระหนี้ลงได้นั่นเอง
เมื่อไหร่ที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้
หลายคนคงจะมีคำถามว่า การปรับโครงสร้างหนี้ควรทำเมื่อไหร่ แนะนำว่าให้เริ่มสังเกตตนเองว่า ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงหรือไม่ เช่น ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงตามเวลาหรือเริ่มรู้สึกว่ายอดหนี้เท่านี้ เริ่มจะรับมือไม่ไหวแล้ว จนกระทบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาได้จากเงื่อนไขดังต่อไปนี้
รายได้ที่ลดลง
เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ของคุณลดลง เช่น ตกงาน ปัญหาสุขภาพหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจ อย่างภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้รายได้ของคุณลดลง การปรับโครงสร้างหนี้ก็จะช่วยให้การชำระหนี้ของคุณสอดคล้องกับสถานะทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป หากรายได้ลดลง และเริ่มรับภาระหนี้ที่จ่ายเป็นประจำทุกเดือนไม่ไหวแล้ว นั่นคือ อีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าควรจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
หากคุณพบว่า ไม่สามารถชำระเงินรายเดือนได้ตามกำหนดเวลา หรือแม้แต่ไม่สามารถจะชำระหนี้ตามยอดขั้นต่ำได้ ก็อาจตามมาด้วยปัญหาหนี้เริ่มสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลให้มีแนวโน้มสูงเกินความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้ ปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่การหนีหนี้ ไม่ชำระหนี้ เพราะฉะนั้น การปรับโครงสร้างหนี้อาจเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยและจัดการหนี้สินได้ในระยะยาวนั่นเอง
ข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้
ช่วยให้ผู้ที่เป็นหนี้สามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป ทำให้สภาพคล่องไม่ตึงมือ มีเวลาพอที่จะจัดการและบริหารการเงินได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ วิธีนี้ก็ถือเป็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ลดโอกาสที่ลูกหนี้จะหนีหนี้ และป้องกันการเกิดหนี้เสียอีกด้วย
ปรับโครงสร้างหนี้ เสียประวัติไหม
การปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ถือว่าเป็นการเสียประวัติทางการเงินในทันที แต่จะมีผลต่อการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร โดยสถานะของคุณจะถูกบันทึกว่ามีการปรับโครงสร้างหนี้ อาจส่งผลให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คุณยื่นกู้ พิจารณาและอนุมัติสินเชื่อด้วยความระมัดระวังหรือยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคุณเคยมีปัญหาด้านการชำระหนี้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะมีข้อเสียเสมอไป อย่างน้อยการปรับโครงสร้างก็ดีกว่าการผิดนัดชำระหนี้ (Default) หรือปล่อยให้หนี้ที่เป็นอยู่กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) อันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ประวัติการเงินเสียหายและส่งผลต่อเครดิตบูโรในระยะยาว ดังนั้น หากคุณไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด แนะนำให้ติดต่อธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นทางออกที่ช่วยรักษาสถานะทางการเงินได้
วิธีปรับโครงสร้างหนี้ ทำอย่างไรได้บ้าง
การเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของคุณ มาดูกันว่ามีวิธีไหนบบ้างที่จะสามารถทำได้ ดังนี้
1. เปลี่ยนประเภทหนี้
อย่างเช่น การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตหลายๆ ที่ หลายๆ บัตรที่ดอกเบี้ยสูง เปลี่ยนมาเป็นประเภทหนี้อีกแบบ ที่เป็นสินเชื่อเพื่อการรวมหนี้ หรือโอนยอดหนี้ โดยจะเหลือจ่ายที่เดียว ที่ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยลดภาระค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนให้เบาลง มีสภาพคล่องมากขึ้น
2. พักชำระเงินต้น
กรณีที่คุณไม่มีเงินชำระหนี้ หรืออาจมีปัญหาด้านรายรับที่น้อยลงจนทำให้เงินไม่พอจ่ายหนี้ การขอพักชำระเงินต้น เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณมีเวลาหรือโอกาสในการฟื้นฟูสภาพคล่องทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยทั่วไปจะมีการพักชำระเงินต้น หรือพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เมื่อครบกำหนดพักชำระแล้ว ก็จำเป็นต้องจ่ายคืนทั้งต้นและดอก โดยช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ เราอย่าลืมว่าดอกเบี้ยยังคงนับต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หากสถานะการเงินเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้รีบกลับมาจ่ายตามปกติทันที ไม่เช่นนั้น มูลค่าหนี้จะถูกสะสมไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับระยะเวลาผ่อนที่ยืดยาวออกไปอีก ดังนั้น หากเลือกวิธีนี้ ควรมีการศึกษาหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียดก่อนทำการเลือกพักชำระเงินหนี้
3. ขอขยายเวลาชำระหนี้
จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละเดือนลดลง ช่วยให้คุณมีเวลามากขึ้นในการจัดการเงินให้ดีขึ้น มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าการขยายเวลาชำระหนี้ไป ก็จะทำให้สัญญาระยะเวลาผ่อนชำระขยายออกไป พร้อมๆ กับดอกเบี้ยที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้้น ก่อนตัดสินใจ ควรศึกษาและสอบถามรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน
สรุป
การปรับโครงสร้างหนี้เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยให้คุณสามารถเคลียร์ปัญหาหนี้ได้รวดเร็วขึ้น ควรเริ่มสังเกตตนเองได้ว่า ปัจจุบันสถานะทางการเงินของตนเองเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังสามารถจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนดอยู่ไหม อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถรับมือไหวแล้ว แนะนำให้ติดต่อสถาบันการเงินหรือธนาคาร เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ เพราะการทำแบบนี้ ดีกว่าไม่จ่ายเลยหรือหนีหนี้ เพราะจะทำให้ไม่เสียประวัติเครดิต หากต้องการขอสินเชื่อในอนาคตก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
แต่หากใครสนใจเป็นวิธีการรวมหนี้ มากกว่า เพื่อจะได้รักษาประวัติเครดิตของตัวเองไว้ ทีทีบี มีบริการพร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อพร้อมให้แนะนำ โดยสามารถเลือกได้ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล แคชทูโก เคลียร์หนี้ หรือบริการโอนยอดหนี้ จากบัตรกดเงินสด ทีทีบี แฟลช
สนใจสมัครรับคำแนะนำเพิ่มเติม ด้วยสินเชื่อบุคคลจากทีทีบีทำได้ง่าย ๆ ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ดังนี้ เว็บไซต์ ttb แอป ttb touch หรือ ttb ทุกสาขาทั่วประเทศ
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว : สินเชื่อส่วนบุคคลทีทีบี ดอกเบี้ย 18% - 25% ต่อปี บัตรกดเงินสด ทีทีบี แฟลช ดอกเบี้ย 25% ต่อปี เงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด