สำหรับคนที่มีสินเชื่อบ้าน มักจะมีคำถามว่าควรเลือกสินเชื่อแบบไหนดี เลือกดอกเบี้ยอย่างไร มีอะไรที่ต้องดูบ้าง ? ซึ่งเหตุผลที่ถามแบบนี้ เพราะว่าค่างวดที่เราต้องจ่ายแต่ละเดือนจะมีดอกเบี้ยเป็นส่วนประกอบอยู่เสมอ และถ้าลองคิดดูดี ๆ เงินดอกเบี้ยที่ว่านี้ก็ไม่ใช่จำนวนน้อยเหมือนกัน หากประหยัดได้มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นเรื่องดี ดังนั้นบทความนี้ จึงนำ 3 เทคนิคดี ๆ ในการเลือกดอกเบี้ยบ้านให้โดนใจมาฝากกัน นั่นคือ
1. เลือกดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุด โดยดอกเบี้ยบ้านในปัจจุบัน มีทั้งแบบคงที่และแบบลอยตัว ซึ่งความแตกต่างกันของดอกเบี้ยทั้งสองประเภทนั้น มีดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงใด ๆ กำหนดไว้เท่าไรก็เป็นเท่านั้น ทำให้เราคำนวณต้นทุนที่ต้องจ่ายได้ง่าย
- อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์หรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมักอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate)
คงไม่มีคำตอบได้แบบฟันธงว่าดอกเบี้ยแบบไหนดีกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับ “แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย” หากพิจารณาว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ควรเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่ แต่หากประเมินว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวจะเป็นประโยชน์กับผู้กู้มากกว่า
ในปัจจุบันสินเชื่อบ้านส่วนใหญ่จะมีผสมกันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ช่วงหนึ่งแล้วค่อยปรับลอยตัวในช่วงหลัง หรือจะคงที่อยู่ช่วงสั้น ๆ แล้วปรับเพิ่มขึ้นเป็นแบบขั้นบันได ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นหรือสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ
ถ้าเราสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดอายุการกู้ยืมได้ก็คงดี เพื่อที่จะได้เลือกดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด แต่ที่จริงแล้ว การคำนวณจำนวนดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำที่สุดใน 3 ปีก็พอไหว เนื่องจากมักเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถตัดสินใจรีไฟแนนซ์ได้หลังจากนี้ ซึ่งอาจจะมีโปรโมชั่นหรือดอกเบี้ยดี ๆ รออยู่ก็ได้เช่นเดียวกัน
2. ประเมินความสามารถในการผ่อน โดยปกติแล้วเราจะถูกกำหนดไว้ที่ค่าผ่อนต่อเดือน ดังนั้นดอกเบี้ยที่แตกต่างกันก็มีผลต่อจำนวนเงินทีต้องผ่อนในแต่ละงวด ซึ่งถ้าหากเราประเมินความสามารถการผ่อนได้ดี ก็จะช่วยให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงได้ เช่น
สำหรับคนที่มีความสามารถในการผ่อนต่อเดือนสูง อาจจะเลือกดอกเบี้ยต่ำ ๆ ในช่วงแรก เพื่อให้ค่างวดที่จ่ายไปนั้น ไปหักลบกับเงินต้นได้มากที่สุด หรือหากสามารถโปะยอดผ่อนเพิ่มเติมในแต่ละเดือนเข้าไป (หรือโปะก้อนใหญ่ในแต่ละปี) จะยิ่งทำให้ภาระหนี้ลดลงเร็วขึ้น รวมถึงเสียดอกเบี้ยลดลงด้วย
ในขณะที่คนที่มีความสามารถในการผ่อนต่อเดือนไม่สูงมากนัก แต่สามารถผ่อนได้สม่ำเสมอ อาจจะต้องมองหารูปแบบดอกเบี้ยที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันในแต่ละปี หรืออย่างน้อยในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ค่างวดไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจนอาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนของเราได้
3. เลือกพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในปัจจุบันสินเชื่อบ้านมีโปรโมชันหลากหลายที่น่าสนใจ ซึ่งการพิจารณาตรงนี้จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมของเรานอกเหนือจากดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน โดยปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา ประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
- วงเงินสินเชื่อ ควรกู้ตามความจำเป็นที่เราต้องการ เพราะยิ่งกู้มาก ดอกเบี้ยก็ยิ่งมากตามไปด้วย ดังนั้นประเมินจำนวนเงินที่กู้ให้ดี ตรงนี้จะช่วยลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้
- อายุสินเชื่อ ระยะเวลาการกู้ยืมยิ่งนานยิ่งมีผลต่อดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เพราะแปลว่าเราต้องผ่อนนานขึ้น ดังนั้นถ้าหากเลือกได้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระ จะทำให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม การเลือกอายุสินเชื่อยาวจะมีข้อดีที่ทำให้ค่างวดผ่อนชำระแต่ละเดือนเบาลง
- ทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ในกรณีเลือกทำประกันชีวิตดังกล่าว ลูกค้ามักได้รับข้อเสนอส่วนลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อ แต่คงไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน เพราะผลประโยชน์เป็นคนละส่วนกัน
- ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าธรรมเนียมจำนองหลักประกัน ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เหล่านี้ สำหรับบางธนาคารอาจจะมีการลดให้ หรือไม่ต้องจ่ายเลย ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณา
- ค่าธรรมเนียมไถ่ถอนก่อนกำหนด กรณีที่เรามีการวางแผนรีไฟแนนซ์ หรือ ไถ่ถอนก่อนกำหนด อย่าลืมเช็คตรงนี้ด้วยว่า มีการกำหนดไว้หรือไม่ และมันตรงกับแผนที่เราวางไว้หรือเปล่า
จะเห็นว่า สินเชื่อบ้านมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง และอาจทำให้เราหลงประเด็นได้ง่าย ดังนั้น อาจลองนำเทคนิค 3 ข้อนี้ไปเป็นหลักคิดเพื่อเปรียบเทียบแต่ละทางเลือก อาจจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น และได้สินเชื่อบ้านที่ตรงใจ
หากสนใจสินเชื่อบ้าน ทีทีบี ก็ที่มีโปรแกรมดอกเบี้ยหลายแบบ ไม่ว่าจะซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสอง หรือรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยพิเศษ เฉลี่ย 3 ปีแรก 2.75% ต่อปี เมื่อสมัครผลิตภัณฑ์เสริม 3 ประเภท ได้แก่ 1) สมัครประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อบ้าน สไมล์ โฮม หรือ สไมล์ โฮม พลัส 2) สมัครใช้บริการหักบัญชี อัตโนมัติผ่านบัญชีออมทรัพย์ ทีทีบี เพื่อผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน 3) สมัครบัตรเดบิต ทีทีบี (กรณีที่มีบัตรเดบิต ทีทีบี แล้วไม่ต้องสมัครเพิ่ม) พร้อมทั้งฟรีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟรีค่าประเมินหลักทรัพย์ ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย
หากใครสนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/personal/loans/home-loan