external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รับมือก่อนรับโรค : 6 โรคฮิตในวัยทำงาน
ที่มาพร้อมค่ารักษาก้อนโต

รับมือก่อนรับโรค : 6 โรคฮิตในวัยทำงานที่มาพร้อมค่ารักษาก้อนโต

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #โรคยอดฮิตค่าใช้จ่ายสูงในวัยทำงาน

20 ก.พ. 2565


  • หลายคนเข้าใจว่าอาการเจ็บป่วยมักมาพร้อมกับวัยชรา และเชื่อว่าเราแทบจะไม่มีโอกาสเจ็บป่วยหากยังหนุ่มสาว
  • ในความเป็นจริงแล้ว เกือบทุกโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงานที่ทำงานหนักจนลืมดูแลตนเอง
  • หลายโรคมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องใช้เวลารักษานาน เตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ด้วยประกันที่ช่วยรองรับความเสี่ยงในเรื่องค่ารักษา

 

วัยทำงานที่ร่างกายยังแข็งแรง ดูแลสุขภาพอย่างดี แต่ก็อาจมีโรคภัยมาเยือนได้โดยไม่ทันตั้งตัว และยังมาพร้อมค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่ทำเอาชีวิตสะดุดได้หากไม่มีแผนรับมือ

โรคภัยไข้เจ็บมักเป็นสิ่งที่เข้ามาสู่ชีวิต โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวเสมอ โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง มีพลังเหลือล้นพร้อมลุยงาน รวมถึงคนที่ดูแลสุขภาพออกกำลังกายเป็นประจำ มักมั่นใจว่าตัวเองแทบไม่มีโอกาสป่วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนในวัยทำงานเป็นวัยที่โรคภัยถามหาไม่แพ้ผู้สูงอายุ บางโรคดูเหมือนเป็นโรคไกลตัว แต่กลับพบผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นวัยทำงาน ดังนั้น “ความเจ็บป่วย” ก็ไม่ต่างจาก “แจ็กพอต” ที่อยู่ดี ๆ ก็อาจมาหาคุณแบบเซอร์ไพรส์ปุบปับ

วันนี้ ttb ชวนมาหาวิธีรับมือกับโรคฮิตของคนวัยทำงานทั้ง 6 โรค ซึ่งถ้าเป็นแล้ว มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ใช้ในการรักษา เพื่อให้คุณเตรียมตัวตั้งรับไว้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจ็บป่วย จะได้ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องค่ารักษา

6 โรคฮิตของวัยทำงานที่มาพร้อมค่ารักษาก้อนโต


1. ‘โรคอ้วน’ แม้กินพอดี ก็ยังเกิดขึ้นได้

โรคอ้วนเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังของคนวัยทำงานกลุ่มอายุ 18-59 ปี โดยผลสำรวจจาก The Behavioral Risk Factor Surveillance System (BRFSS) พบว่า คนวัยทำงานที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเกณฑ์ปกติ (หรือมากกว่า 25) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขในปี 2564 ที่รายงานว่าคนไทยวัยทำงานกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มีภาวะอ้วน แม้สาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วนจะมาจากวิถีชีวิต แต่บางส่วนก็มาจากปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ที่เหนือการควบคุม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยข้อมูลว่า หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนถึง 3 เท่า ในขณะที่ถ้าทั้งพ่อและแม่อ้วน ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้มากถึง 10 เท่า

เมื่อป่วยเป็นโรคอ้วน นอกจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคความดันโลหิต หรือโรคไขมันพอกตับ และยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าคนปกติราว 7-10 ปี

ทั้งหมดนี้ ทำให้คนที่เป็นโรคอ้วน มักมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก รัฐบาลสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าทั่วโลกอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการป่วยที่มาจากโรคอ้วนราว 39.8 ล้านล้านบาทต่อปี สำหรับในเมืองไทย ก็มีแนวทางการรักษาโรคอ้วนร้ายแรงที่ใช้เงินสูงเป็นหลักแสน เช่น การผ่าตัดหรือการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเพื่อทำให้ทานอาหารได้น้อยลง เป็นต้น


2. ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ (Office syndrome) โรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศที่แทบจะเลี่ยงไม่ได้

จากสถิติของโรงพยาบาลสมิติเวชรายงานว่า คนวัยทำงานกว่า 80% มีภาวะออฟฟิศซินโดรม และกรมอนามัยยังออกมาเตือนประชาชนว่าการ Work from Home ที่เกิดขึ้นจากภาวะโรคระบาด อาจเพิ่มโอกาสการเป็นออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น สาเหตุของโรคเกิดจากการทำงานของคนยุคใหม่ที่เน้นนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ได้เคลื่อนไหว จึงเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ หรือมีอิริยาบถที่ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อนาน ๆ เช่น นั่งก้มหน้า งอตัว ไขว่ห้าง ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและเกิดอาการปวดได้

แม้ออฟฟิศซินโดรมดูเหมือนเป็นชื่อเรียกของอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ที่คนวัยทำงานหลายคนน่าจะเคยสัมผัส แต่ถ้าหากปล่อยให้เรื้อรังโดยไม่รักษา ก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคกล้ามเนื้อและกระดูกอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด เป็นต้น

สำหรับการรักษาออฟฟิศซินโดรม สามารถเลือกรักษาได้ทั้งการทำกายภาพบำบัด หรือการรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย โดยจะต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ค่าบริการในการทำกายภาพบำบัด เริ่มต้นเฉลี่ยหลักพันบาทต่อครั้ง แต่ไม่รับประกันว่าการรักษาเหล่านั้นจะทำให้อาการของคุณจะหายขาด หากคุณยังมีพฤติกรรมแบบเดิม


3. ‘โรคความดันโลหิตสูง’ อายุน้อยก็เป็นได้

โรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นโรคที่ฟังดูไกลตัวคนวัยทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนวัยทำงานอายุ 30-69 ปีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึงปีละ 600,000 คน ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ไม่ได้มาจากอายุเพียงเท่านั้น แต่อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือความเครียด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้วัยทำงานเองก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วยเช่นกัน

สถิติจากกรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ แสดงให้เห็นว่าหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นมาจากโรคความดันโลหิตสูง หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับไต รวมถึงปัญหาด้านความจำเสื่อม ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนับเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วจะต้องใช้เวลารักษานาน และต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ ซึ่งค่ายาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อครั้ง และแน่นอนว่าจะแพงขึ้นเมื่อซื้อยาจากโรงพยาบาลเอกชน แม้ตัวเลขต่อครั้งอาจดูไม่มาก แต่เมื่อต้องรับประทานยาต่อเนื่องยาวนานก็รวมกันเป็นเงินก้อนโตได้


4. ‘ภาวะไขมันในเลือดสูง’ ที่เกือบครึ่งนึงของคนวัยทำงานเป็น

สถิติจากกรมอนามัยรายงานว่าคนวัยทำงานกลุ่มอายุ 15-59 ปี มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติสูงถึง 43.8 % ซึ่งสาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูงของคนวัยทำงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการมากเกินไป เช่น ของทอด ของหวาน หรือแอลกอฮอล์  แต่ก็มีคนป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคนี้จากพันธุกรรม (Familial hypercholesterolemia: FH) ที่ได้รับทางยีนจากพ่อแม่ ปริมาณไขมันที่สูงนี้อาจทำให้เส้นเลือดตีบหรืออุดตัน ทำให้การส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรือเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้

การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงโดยทั่วไป จะรักษาด้วยการกินยาลดไขมันอย่างต่อเนื่องหลายเดือน หรือหลายปี โดยยาลดไขมันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่เม็ดละ 17 บาท  ลองคำนวณดูว่าหากต้องรับประทานยาวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 5 ปี จะต้องใช้เงินมากแค่ไหน นี่ยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องอาหารและการปรับพฤติกรรม เพื่อรักษาให้โรคนี้ทุเลาได้เร็วยิ่งขึ้น


5. ‘โรคหลอดเลือด’ โรคร้ายแรงที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

โรคหลอดเลือด เป็นอีกภัยร้ายที่ต่อเนื่องมาจากโรคอ้วนหรือโรคภาวะไขมันในเลือดสูง จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า วัยทำงานป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 32.4 %  โดยโรคหลอดเลือดที่มักพบเป็นอันดับแรก คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ที่กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรคร้ายอันดับ 2 ที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด รวมไปถึงสถิติจากกรมควบคุมโรคที่พบว่าประชากรทุก 4 คน จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน และโรคนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (ในช่วง 30-69 ปี) สูงกว่าโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ อีกด้วย

โรคหลอดเลือดสมองมักมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ แบบเฉียบพลัน เช่น อาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขนขา รวมไปถึงร่างกายครึ่งซีก อาการพูดไม่ชัด เวียนหัวแบบทันที ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ทรงตัวลำบาก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออาจทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพเป็นเวลานาน

สำหรับค่ารักษาในระยะเฉียบพลัน มีตั้งแต่การให้ยาสลายลิ่มเลือดไปจนถึงการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายหลักแสน และยังต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลอดเลือดสมองอีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดขยายหลอดเลือดหรือการทำบอลลูนหลอดเลือด ซึ่งก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายหลักแสน ยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดที่จำเป็นจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน


นอกจากนี้ ยังมี ‘โรคหลอดเลือดหัวใจ’ ที่คนวัยทำงานอายุน้อยกว่า 40 ปี มักป่วยด้วยโรคนี้ โดยมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์  ปัจจุบันสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่าใน 1 ชั่วโมง มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจราว 7 คน และแน่นอนว่าการรักษาก็จะมีความซับซ้อนไม่แพ้โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงถึงหลักแสนไปจนถึงหลักล้าน


6. ‘โรคมะเร็ง’ โรคแจ็กพอตที่ไม่ว่าใครก็เป็นได้

จากสถิติสาธารณสุข ปีพ.ศ. 2561 รายงานว่า โรคร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุดนั้น ได้แก่ โรคมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของ WHO Global Cancer 2020 ที่เปิดเผยว่าแค่เพียงโรคมะเร็งตับโรคเดียวคร่าชีวิตคนไทยไปราว 26,704 รายต่อปี

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งประกอบกันด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย มลพิษทางอากาศ หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนมาในอาหาร รวมถึงความเสี่ยงด้านพันธุกรรมที่เหนือการควบคุม

โรคมะเร็งสามารถรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งส่วนไหนของร่างกาย และพบในระยะไหน เช่น การผ่าตัดใช้รักษามะเร็งเฉพาะที่ที่พบในระยะแรก การรักษาด้วยการฉายรังสี หรือทำคีโม เป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง ค่าฉายรังสีของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ที่ราว 30,000-180,000 บาทต่อแผนการรักษา และเมื่อรักษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่าโรคมะเร็งจะกลับมาเยี่ยมคุณอีกหรือไม่


มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นภาพตรงกันว่า แม้เราจะพยายามดูแลสุขภาพอย่างดีแค่ไหน โรคยอดฮิตเหล่านี้ก็อาจมาเยือนเราได้ในสักวัน ไม่ว่าจะด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือจากพันธุกรรม นอกจากความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายแล้ว เมื่อวันนั้นมาถึง สุขภาพการเงินของเราก็อาจมีปัญหาตามมา หากไม่มีการวางแผนเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล ttb มีตัวช่วยรับความเสี่ยงให้คุณสบายใจได้ยามที่โรคร้ายเหล่านี้มาเยือน คุณจะมีเกราะคุ้มครองสุขภาพการเงินของคุณ ช่วยดูแลและแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาล ที่จะทำให้แผนการเงินของคุณไม่สะดุด และผ่านทุกอุปสรรคชีวิตไปได้

 

ประกันสุขภาพที่ทีทีบี

ทีทีบี อีซี่ แคร์ พลัส (ttb easy care plus)

ประกันสุขภาพที่คุณสามารถออกแบบความคุ้มครองให้พอดีกับคุณได้ ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยในแบบเหมาจ่าย รวมถึงค่าห้องแบบเหมาๆ เลือกจ่ายเบี้ยประกันภัยแบบสบาย ๆ เริ่มต้นเพียง 32 บาทต่อวัน พร้อมทางเลือกในการเพิ่มความคุ้มครองโรคมะเร็ง แบบเจอ-จ่าย-จบ

 

ทีทีบี เฟล็กซี่ แคร์ (ttb flexi care)

ประกันชีวิตและสุขภาพที่ออกแบบมาให้ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทุกความต้องการ เหมาจ่ายทุกการรักษา สูงสุด 20 ล้านบาท มาพร้อมบริการเสริมระดับโลก ทั้ง SOS โดย Assist America และบริการความเห็นที่ 2 ทางการแพทย์จาก MediGuide สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยน้อยลงได้ เมื่อเลือกความคุ้มครองแบบรับผิดชอบส่วนแรก (deductible)

 

ทีทีบี ซีไอ พร้อม แคร์ (ttb CI prompt care)

ประกันคุ้มครอง 63 โรคร้ายแรง ไม่ว่าจะตรวจเจอโรคร้ายแรงระดับไหน เจอ จ่ายตั้งแต่ตรวจพบ เรื่องค่าใช้จ่ายสบายใจหายห่วง ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นภาระของครอบครัว

 

ทีทีบี ซีไอ เอ็กซ์ตร้า แคร์ (ttb CI extra care)

ประกันคุ้มครอง 8 โรคร้ายแรงยอดฮิต จ่ายทันทีที่ตรวจพบ สูงสุด 1 ล้านบาท มาพร้อมบริการ Nursing Care ช่วยดูแลคุณยามพักฟื้น โดยบุคลากรพยาบาลที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีทีบี สาขาใกล้คุณ หรือโทร ttb contact center 1428

  • ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
  • รับประกันชีวิตโดยบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันภัย จํากัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงนายหน้าประกันชีวิตและรับผิดชอบในฐานะนายหน้าเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • สมาคมชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน, สถานการณ์ “โรคปัจจุบัน” ของกลุ่มคนวัยทำงานใน “โลกปัจจุบัน”, 2020
  • กรุงเทพธุรกิจ, กรมอนามัย ห่วง กลุ่มวัยทำงาน เสี่ยงภาวะอ้วน สุขภาพแย่ระยะยาว, 2021
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), อ้วน เพราะกรรมพันธุ์?, 2019
  • Doctor Raksa, โรคอ้วน (Obesity)
  • The Guardian, Global cost of obesity-related illness to hit $1.2tn a year from 2025, 2017
  • กรุงเทพธุรกิจ, 5 เคล็ดลับหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม, 2019
  • ไทยรัฐออนไลน์, เตือน Work from Home นั่งนานไม่ถูกวิธี เสี่ยงป่วยโรค "ออฟฟิศซินโดรม", 2021
  • โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, แพ็กเกจรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม
  • โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง, แพ็กเกจกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม
  • กระทรวงสาธารณสุข, แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564)
  • โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • กรมควบคุมโรค สำนักโรคไม่ติดต่อ, รายงานสถานการณ์โรค NCDs, 2019
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่, ค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานต่อใบสั่งยา ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดแพร่, 2014
  • กรมอนามัย, ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายในผู้ ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง, 2019
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ไขมันในเลือดสูง โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
  • National Drug Information, กลุ่มยาลดไขมันสูตรผสม 2015
  • โพสต์ทูเดย์, พบวัยทำงานป่วยโรคหัวใจมากเป็นอันดับ1, 2016
  • Hfocus, ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย, 2019
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ, แพ็กเกจผ่าตัดศูนย์หลอดเลือด, 2021
  • ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช, โรคหลอดเลือดในสมองรักษาได้อย่างไร, 2022
  • เดลินิวส์, ''โรคหัวใจ'' มรดกทางพันธุกรรม, 2018
  • ประชาชาติธุรกิจ, เปิดสถิติคนไทย เสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน, 2021
  • กองยุทธศาสตร์และแผนงานสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2561, 2018
  • โพสต์ทูเดย์, 'มะเร็งตับ' ดับชีวิตคนไทยรายวันดันยอดพุ่งสูงกว่าโควิด-19, 2021
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ประมาณการค่าฉายรังสีในเวลาราชการ สำหรับโรคมะเร็งที่พบบ่อย
ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด