external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

“8 เรื่องเงินต้องทบทวนในวัย 30” หากไม่อยากรู้สึกผิดกับตัวเอง

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #เรื่องเงินต้องรู้วัย30

2 ก.ค. 2564



  • วัย 30 เป็นช่วงเวลาทองในการทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จ และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
  • กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายชีวิตของคุณสำเร็จ คือ การวางแผนการเงิน
  • 8 เรื่องสำคัญทางการเงินที่ต้องทบทวน และ Tips ดี ๆ ในการเริ่มต้นลงมือทำ เพื่อการเงินดีตั้งแต่วันนี้และอนาคต




“เคยจินตนาการกันมั้ยครับ ถึงภาพของตัวเองในอนาคต ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง”

แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้จินตนาการนั้นเป็นจริง ?

เมื่อศึกษาประวัติคนดังระดับโลกก็พบว่าหลายคนมักประสบความสำเร็จ หรือมีจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงอายุ 30 ปี เช่น J.K. Rowling นักเขียนนิยายชื่อดัง Harry Potter ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จตอนอายุ 32 ปี หรือ Stan Lee นักเขียนการ์ตูน และโปรดิวเซอร์คนสำคัญ ผู้ให้กำเนิดเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ของจักรวาล Marvel ที่ประสบความสำเร็จตอนอายุ 39 ปี

ในวัย 30 มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะเป็นวัยที่พร้อมทั้งวุฒิภาวะ หน้าที่การงาน การตัดสินใจ และก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว เป็นช่วงเวลาทองของอายุคนเราที่จะทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะไขประตูไปสู่การมีความมั่นคงและความสำเร็จตลอดช่วงชีวิตก็คือการรู้จัก “ทบทวนและวางแผนการเงินอย่างจริงจัง”

“8 เรื่องเงินต้องทบทวนในวัย 30” หากไม่อยากรู้สึกผิดกับตัวเอง

1.ทบทวนบัญชีการเงินทั้งหมดที่มี และจัดสรร บริหารให้เป็นระเบียบ

ความมั่นคงในชีวิตเริ่มต้นด้วยการมีวินัยในการจัดการชีวิตและบริหารการเงินให้รอบคอบ จัดสรรบัญชีอย่างเป็นระบบ มีบัญชีสำหรับใช้จ่ายแยกกับบัญชีเงินออม และแบ่งเป้าหมายการออมเป็นเงินออมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยควรบริหารให้มีเงินออมต่อเดือนอย่างน้อย 10% ของรายได้ สำหรับเงินออมก้อนแรกที่ต้องมี คือเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งควรมีอย่างต่ำ 6 เดือน โดยมีสูตรคำนวณง่าย ๆ คือ (รายจ่ายปกติต่อเดือน x 6 เดือน = เงินสำรองฉุกเฉินที่ควรมี) ซึ่งควรเก็บไว้ในบัญชีที่สามารถถอนใช้ได้ทันที หากมีเหตุฉุกเฉิน และยิ่งได้ดอกเบี้ยสูงด้วย ก็จะยิ่งดีนะครับ

แม้การจัดสรรบัญชีอาจจะดูยุ่งยากสักหน่อยในช่วงแรก แต่มีประโยชน์ในระยะยาวแน่นอนครับ

2. ทบทวนแผนการลงทุนเพื่ออนาคต และวางแผนเกษียณ

สร้างความมั่นคงให้ชีวิตด้วยการสร้างฟูกนุ่ม ๆ ไว้รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การลงทุนใน SSF (กองทุนรวมส่งเสริมการออมระยะยาว) หรือ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) เป็นการลงทุนที่ทำให้คุณมีเงินก้อนระหว่างทางชีวิตจนถึงหลังเกษียณ และลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ด้วย ยิ่งเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไหร่ ฟูกนุ่ม ๆ ของคุณก็ยิ่งปลอดภัยมั่นคงต่อการรองรับคุณในยามเกษียณได้มากขึ้นเท่านั้น

3. ทบทวนสินทรัพย์ การมีบ้านหรือคอนโดเพื่อตัวเอง

“เงินเดือนเท่านี้ ควรซื้อบ้านหรือคอนโดที่ราคาเท่าไหร่ ?” มักเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจเมื่อถึงวัยที่ต้องการมีสมบัติชิ้นใหญ่เป็นของตัวเอง เป็นการวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถรับภาระในการผ่อนสินเชื่อบ้านไหว ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีหลักการประเมินความสามารถในการแบกรับภาระหนี้ของลูกหนี้ไว้ที่ 40% ของรายได้ต่อเดือนของลูกหนี้ เพื่อคำนวณเงินผ่อนชำระสูงสุดที่ลูกหนี้จะสามารถชำระได้ โดยกำหนดอัตราส่วนจำนวนเงินผ่อนต่องวดไว้ที่ 7,000 บาท ต่อยอดหนี้ 1 ล้านบาท
ซึ่งสามารถประเมินวงเงินสินเชื่อให้ใกล้เคียงธนาคารได้จากสูตรคำนวณ

[เงินเดือน x ภาระหนี้ 40%] - หนี้สินปัจจุบันต่อเดือน = ความสามารถในการชำระหนี้สูงสุดต่อเดือน

ตัวอย่างเช่น นายสมาร์ทมีเงินเดือน 30,000 บาท มีหนี้สินปัจจุบันต่อเดือน (ผ่อนรถ) 6,000 บาท

[30,000 บาท x ภาระหนี้ 40%] – 6,000 = ความสามารถในการชำระหนี้สูงสุดต่อเดือนคือ 6,000 บาท

จากนั้นนำมาคำนวณหาวงเงินที่สามารถกู้ได้สูงสุด จากอัตราส่วนจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวด : วงเงินกู้ = 7,000 บาท : 1,000,000 บาท

(1,000,000 x ความสามารถในการชำระหนี้สูงสุดต่อเดือน) ÷ 7,000 = วงเงินกู้สูงสุด

เท่ากับสามารถขอวงเงินกู้ได้สูงสุด (1,000,000 x 6,000) ÷ 7,000 = 857,143 บาท

*กรณีไม่มีหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้สูงสุดต่อเดือน คือ 12,000 บาทเท่ากับสามารถขอวงเงินกู้ได้สูงสุด (1,000,000 x 12,000) ÷ 7,000 = 1,714,286 บาท

จากตัวอย่างการคำนวณจะช่วยให้คุณพอเห็นภาพและประเมินความสามารถของตัวเองได้ว่าควรจะต้องผ่อนสินเชื่อบ้านที่ราคาเท่าไหร่ ที่คุณผ่อนไหวและไม่หนักจนเกินไป ในการสร้างสินทรัพย์เพื่อความมั่นคงในชีวิตให้กับตัวคุณและครอบครัว เป็นการช่วยให้คุณวางแผนการเงินระยะยาวอย่างรอบคอบและรัดกุมมากขึ้น

4.ทบทวนและคำนวณการเงิน เรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจมีครอบครัว

เรื่องของความรักในวัย 30 เป็นช่วงวัยที่หลายคนตัดสินใจเริ่มสร้างครอบครัว เราไม่ได้มองหาแค่คนที่อยู่ด้วยแล้วเบิกบานใจเหมือนสมัยวัยรุ่น แต่มองหาคู่ชีวิตที่จะรับผิดชอบครอบครัวและประคับประคองสร้างอนาคตไปด้วยกันได้

เพื่อให้ชีวิตครอบครัวในอนาคตราบรื่นและเป็นไปตามฝัน การทบทวนการเงินของตัวคุณและคู่ชีวิตร่วมกัน เป็นรากฐานสำคัญที่คุณควรวางแผนก่อนตัดสินใจแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการมีลูก เพราะสมัยนี้การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพก็ต้องใช้เงินเยอะ ตั้งแต่ค่าคลอด ค่าใช้จ่ายรายวัน ไปจนถึงค่าส่งเรียนจนจบปริญญาตรี ในขณะที่ยังต้องสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิตไปด้วย

5. ทบทวนวิธีหารายได้เพิ่มบนความเป็นจริง

อีกวิธีที่ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เร็วขึ้น คือการเพิ่มรายได้ อย่ากังวลที่จะขอปรับตำแหน่งเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต หากคุณทำงานในตำแหน่งเดิมมานาน และมั่นใจว่ามีผลงานที่ดี จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอให้คุณก้าวหน้าในอาชีพ มีโบนัสหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคุณก็ต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นให้สมกับเงินเดือนที่ได้มาด้วย หรือการหารายได้หลายทางด้วยการมองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมก็จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตในยุคนี้อย่างอุ่นใจได้เช่นกัน

6. ทบทวนความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการลงทุนที่คุณศึกษาไม่ดีพอ

เป็นเรื่องดีหากคนเราต้องการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เร็วที่สุดด้วยการลงทุน แต่คุณก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและทบทวนอย่างมีสติก่อนทุกครั้ง เพราะการลงทุนในสิ่งที่คุณยังศึกษาข้อมูลไม่ดีพอ แทนที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเสียเงินจำนวนมากได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น

7. ทบทวนหนี้สิน อย่ายืมเงินเพื่อชำระหนี้เก่า แต่ควรจัดการเคลียร์หนี้แบบเป็นระบบระเบียบ ตั้งใจ และสม่ำเสมอ

การยืมเงินเพื่อชำระหนี้เก่า มักเป็นวงจรที่ไม่มีทางจบลงง่าย ๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่ก่อหนี้สินให้ตัวเองตั้งแต่แรก ถ้าไม่มั่นใจว่าจะแบกรับภาระไหว แต่หากเป็นหนี้แล้ว ทางแก้ที่ดีที่สุดคือการประหยัดเงินแล้วตั้งใจเคลียร์หนี้ให้หมดไวที่สุด จัดลำดับหนี้ที่มีความเร่งด่วนต้องใช้คืนก่อนอย่างเป็นระบบระเบียบ และไม่สร้างหนี้ใหม่เพิ่มอีก

8. ทบทวนการใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพให้ดี ลดโอกาสเสียเงินก้อนใหญ่ไปกับค่ารักษาพยาบาล

การดูแลสุขภาพเป็นอีกเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะต่อให้คุณทำงานหนักหรือหาเงินได้เยอะแค่ไหน สุดท้ายหากต้องมาเสียเงินก้อนใหญ่ไปกับค่ารักษาพยาบาล ก็เหมือนความพยายามที่ผ่านมานั้นเสียเปล่าและไม่คุ้มเลย คุณจึงควรหาเวลาออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีระยะยาว และมองหาประกันเอาไว้เพื่อความอุ่นใจเมื่อจำเป็นต้องเข้ารักษาตัว

ถึงเวลาที่คนวัย 30 อย่างเราต้องทบทวนและจัดการการเงินอย่างมีแบบแผน มุ่งมั่น และจริงจังในการวางรากฐานให้ชีวิตการเงินดีทั้งปัจจุบัน และอนาคต เพราะถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้ ต่อให้คุณคิดได้ในตอนที่สายไป ก็คงไม่มี Time Machine ให้คุณย้อนกลับมาแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว

แนะนำให้ลองเริ่มจากการมีเงินเก็บฉุกเฉินก่อนนะครับ เก็บไว้ในบัญชีเพื่อออมที่ให้ดอกเบี้ยสูง หากฉุกเฉินก็ถอนได้ เช่น บัญชี ttb no fixed ครับ คลิก

ที่มา: Demilked, เรื่องราวความสำเร็จคนดัง, 2019

ที่มา: Finspace,สูตรคำนวณความสามารถในการชำระหนี้, 2019

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด