external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

‘6 Jars’ เทคนิคเก็บเงินใส่โหล 6 ใบ
บันไดขั้นแรกสู่อิสรภาพทางการเงิน

เจาะลึกวิธีเก็บเงินด้วยเทคนิค 6 Jars โดย T. Harv Eker

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #ออมเงิน

22 ก.ย. 2565


  • เทคนิคการเก็บเงินแบบ 6 Jars คืออะไร?
  • รายจ่ายเยอะเกินทำอย่างไร?, ควรทำอย่างไรกับหนี้ก้อนใหญ่?, บัตรเครดิต และ Passive Income ควรอยู่ในโหลไหนของเทคนิคนี้?
  • ตัวอย่างการเก็บเงินแบบ 6 Jars

 

โหล 6 ใบ ในเทคนิค 6 Jars มีอะไรบ้าง? 6 Jars คือ เทคนิคการเก็บเงินอย่างเป็นระบบ เปรียบเทียบ ‘รายได้’ เป็นเหมือนน้ำที่ได้รับมาเมื่อไหร่ เราจะแบ่งใส่ในโหล 6 ใบทันที เพื่อเก็บไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์ และสัดส่วนที่แตกต่างกัน ดังนี้

6 Jars เทคนิคเก็บเงินใส่โหล 6 ใบ


โหลที่ 1: ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (Necessity Account)

ประมาณ: 55% ของรายได้
โหลที่มีความจำเป็น และกินสัดส่วนมากที่สุด ถูกกันไว้สำหรับ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เงินที่ต้องส่งให้ครอบครัวทุกเดือน ภาระหนี้สินต่าง ๆ ไปจนถึงทุกค่าใช้จ่าย ‘จำเป็น’ ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น


โหลที่ 2: ค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในอนาคต (Long-Term Saving for Spending Account - LTSS)

ประมาณ: 10% ของรายได้
โหลที่มีความสำคัญและต้องจัดสรรให้ดีที่สุด เพราะนี่คือเงินส่วนที่ต้องเตรียมไว้เพื่อ ‘อนาคต’ (อันใกล้) ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง เงินซื้อรถ หรือดาวน์บ้าน , วางแผนแต่งงาน, ทุนการศึกษาบุตร, ลงทุนตามความถนัด, เก็บไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน ไปจนถึงวางแผนเที่ยวต่างประเทศที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งบางคนอาจเลือกขยายสัดส่วนโหลนี้เป็น 15% ก็ได้


โหลที่ 3: ให้รางวัลตัวเอง (Play Account)

ประมาณ: 10% ของรายได้
กินอาหารดี ๆ, ซื้อของที่อยากได้มานาน, พาคนในครอบครัวไปเที่ยวด้วยกัน อย่ามองว่าเงินส่วนนี้คือของฟุ่มเฟือย เพราะการเติมความสุขให้กับหัวใจตอบแทนตัวเองที่ทำงานหนัก นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเหมือนกัน


โหลที่ 4: พัฒนาตัวเอง (Education Account)

ประมาณ: 10% ของรายได้
โหลสำหรับการลงทุนเพื่อปัจจุบัน และอนาคต กันเงินส่วนหนึ่งไปกับคอร์สเรียนที่คุณสนใจ หรือเพิ่มสกิลที่สำคัญ ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ อัปเกรดความสามารถ และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพื่อนำมาแบ่งใส่โหลทั้ง 6 ใบ ได้มากขึ้นในอนาคต


โหลที่ 5: ลงทุนเพื่อการเกษียณ (Financial Freedom Account - FFA)

ประมาณ: 10% ของรายได้
เงินลงทุนสำหรับ ‘อนาคต’ (ระยะยาว) อาจเลือกไปที่การลงทุนในกองทุน หรือสินทรัพย์ ที่สร้าง Passive Income ได้ตลอดเวลา เป็นโหลแห่งความมั่งคั่ง ที่ยิ่งมีเงินเติมในโหลนี้มากเท่าไร คุณก็ยิ่งอยู่ใกล้การเงินที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างสบายใจมากเท่านั้น


โหลที่ 6: ให้และแบ่งปันโอกาส (Give Account)

ประมาณ: 5% ของรายได้
เงินโหลนี้ถูกออกแบบเพื่อประโยชน์ด้านความสุขทางจิตใจ คุณสามารถเลือกบริจาคให้กับ องค์กร, มูลนิธิ หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสด้านต่าง ๆ โดยเงินส่วนนี้ ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งได้อีกด้วย

ตัวอย่าง แบ่งสัดส่วนโหลทั้ง 6 ใบ


หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่าโหลทั้ง 6 ใบต้องใส่อะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น เรามาดูกันดีกว่า ว่าถ้าหากเทียบกับรายรับที่เราจะได้ต่อเดือนแล้ว เราควรแบ่งสัดส่วนใส่โหลทั้ง 6 ใบอย่างไรดี

นาย A เป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ปลอดภาระหนี้สิน มีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง ได้รับเงินเดือนสุทธิ 28,000 บาท และนาย A มีรายได้เสริมจากการขายของออนไลน์เดือนละ 7,000 บาท ในหนึ่งเดือนนาย A จึงมีรายรับ 35,000 บาท

หลังจากเงินเดือนออกแล้ว นาย A จะแบ่งเงินจำนวน 19,250 บาท (คิดเป็น 55% ของรายได้) ไว้สำหรับจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ 2,000 บาท, ค่าโทรศัพท์ 1,000 บาท, ซื้ออาหารและของใช้จำเป็น 9,000 บาท, ค่าเดินทางไปทำงานโดยรถไฟฟ้าสาธารณะ 3,000 บาท และแบ่งให้แม่ 4,000 บาท โดยเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่าย นาย A ก็จะยังคงเก็บเงินไว้ในส่วนนี้เหมือนเดิม เพื่อนำเศษที่เหลือไปไว้ใช้จ่ายสำหรับบางเดือนที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากกว่าที่ตั้งไว้

นาย A แบ่งเงิน 3,500 บาท (คิดเป็น 10% ของรายได้) สำหรับเก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน และเงินจำนวนนี้หากเก็บได้มากพอ นาย A ก็มีความตั้งใจอยากจะเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อเป็นรางวัลให้ตนเองหลังจากที่ทำงานเหนื่อยมาทั้งปี

ทุก ๆ เดือน นาย A จะพาแม่ไปรับประทานอาหารร้านโปรด โดยจะแบ่งเงินจำนวน 3,500 บาท (คิดเป็น 10% ของรายได้) เอาไว้สำหรับรายจ่ายในส่วนนี้ นาย A ไม่มองว่าเป็นรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพราะการได้พาแม่ไปรับประทานอาหารอร่อย ๆ เดือนละ 1 – 2 ครั้ง เป็นการเติมความสุขทางใจ และหากเดือนไหนเหลือเงินทอนในส่วนนี้ นาย A ก็จะเก็บเงินทอนรวมไว้ซื้อของที่อยากได้ หรือเป็นเงินเก็บเพิ่มเติมสำหรับไปเที่ยวต่างประเทศ

นาย A มีความฝันอยากจะเรียนภาษาจีน เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง และเพิ่มฐานเงินเดือน นาย A จึงแบ่งเงินจำนวน 3,500 บาท (คิดเป็น 10% ของรายได้) เอาไว้สำหรับลงเรียนภาษาจีนพื้นฐาน

เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอนาคต นาย A จึงอยากสร้าง Passive Income ให้กับตนเอง จึงแบ่งเงินจำนวน 3,500 บาท (คิดเป็น 10% ของรายได้) ไว้สำหรับซื้อกองทุน และหากมีรายได้จากส่วนนี้ นาย A ก็จะไม่นำมาใช้จ่าย แต่นาย A จะนำเงินปัญผลไปต่อยอดการลงทุนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีผลตอบแทนที่งอกเงยยิ่งขึ้น

สำหรับเงินที่เหลืออีก 1,750 บาท (คิดเป็น 5% ของรายได้) นาย A จะนำเงินไปบริจาคให้มูลนิธิเพื่อการกุศลสาธารณะ ซึ่งนาย A สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

จากตัวอย่างของนาย A ที่แบ่งเงินตามทฤษฎี 6 Jars ของ T. Harv Eker จะเห็นว่านาย A มีความยืดหยุ่นในการออมเงิน ไม่ออมเงินอย่างเคร่งครัดจนเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด แต่ก็ไม่ใช้จ่ายไร้เหตุผลจนไม่เหลือเงินเก็บ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของนาย A คือการไม่สร้างหนี้เพิ่ม โดยจะใช้จ่ายเท่าที่มี และเก็บเงินทีเดียวเมื่อต้องการซื้อของที่อยากได้ นอกจากนี้การไม่ใช้จ่ายข้ามโหลกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการแบ่งเงิน เพียงเท่านี้ก็สามารถวางแผนการเงินที่ยั่งยืนได้ และเป็นบันไดขั้นแรกสู่อิสรภาพทางการเงิน

สุดท้าย fintips by ttb #เรื่องเงินที่รู้จริงแบบเพื่อนที่รู้ใจ มองว่า ‘จำนวน’ เงินที่เก็บได้ สำคัญไม่แพ้กับ ‘การสร้างนิสัย การบริหารเงิน’ ให้เคยชินในระยะยาว และเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยพิชิตเป้าหมายทางการเงิน

สนใจศึกษาวิธีเคล็ดลับการออม สัดสรรการเงิน อื่น ๆ คลิก

ออมให้ถูกที่ รับดอกเบี้ยมากกว่า บัญชี ทีทีบี โนฟิกซ์


ที่มา : harveker.com

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด