กลายเป็นข่าว Talk of the Town เมื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ได้ขึ้นราคาเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี น่าสนใจไม่น้อยว่าแบรนด์ดังสามารถยืนระยะราคาขายนี้มาได้อย่างไร
ถือว่าเป็นโชคดีของผู้เข้าอบรมหลักสูตร ttb digial LEAN supply chain สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รุ่นที่ 17 ที่ได้โอกาสรับฟังกลเม็ดเคล็ดลับทางธุรกิจจาก คุณพจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ โดยตร
ใช้เครื่องมือ Lean ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ
ความจริงคุณพจนาไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นรุ่นพี่ผู้เข้าอบรมหลักสูตร LEAN Supply Chain by ttb รุ่นที่ 2 แถมยังเป็นนักเรียนดีเด่นของรุ่นอีกต่างหาก ก่อนหลักสูตรจะปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมาเป็น ttb digital LEAN supply chain ในปัจจุบัน
คุณพจนาเผยว่าหลักการและเครื่องมือที่เกี่ยวกับ LEAN ที่นำมาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยลดต้นตุน ร่วมกับแนวทางอื่น ๆ และทำให้ราคาขายไม่ปรับเปลี่ยนมาได้นานถึง 15 ปี นี่คือหนึ่งแนวคิดและเทคนิคที่รุ่นพี่ใช้ในวันนั้นและใช้ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
- เก็บเงินในบ้าน 1 บาท ง่ายกว่าออกไปหาเงินข้างนอก 1 บาท
- บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินสักบาท เราก็สามารถพัฒนาปรับปรุงระบบงานต่าง ๆ ที่เคยคิดว่าทำดีที่สุดให้ดียิ่งขึ้นได้อีก เพียงมองปัญหาให้ออก วิเคราะห์ถึงสาเหตุ และนำเครื่องมือมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม
- มาม่าส่งออกไป 60 กว่าประเทศทั่วโลก ปัญหาของไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ในขณะนั้นที่มาเข้าอบรม หลักสูตร LEAN Supply Chain by ttb คือ ไม่สามารถโหลดตู้คอนเทนเนอร์ได้ตามออเดอร์ส่งออกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโรงงานมีพื้นที่จำกัด แต่จากการวิเคราะห์โดยใช้ Spaghetti Diagram พบปัญหาเรื่องเส้นทางการขนย้ายสินค้า ทำให้การขับรถโฟล์คลิฟท์ต้องอ้อมไกล สุดท้ายตัดสินใจทุบกำแพงทิ้ง จนเกิดเป็น Spaghetti Diagram เส้นสวย ซึ่งช่วยลดระยะในการขนย้าย เพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ได้เร็วขึ้น รวมถึงพยายามมองหาปัญหาด้านอื่น ๆ ก็ได้พบว่า พนักงานที่บรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์ต้องใช้เวลากับการพักค่อนข้างบ่อย เพราะภายในตู้คอนเทนเนอร์อากาศร้อนมาก จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีเพิ่มพัดลมช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสบายขึ้น ช่วยลดเวลาการพักลงได้ จึงสามารถโหลดตู้คอนเทนเนอร์ได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าแรงล่วงเวลาได้ด้วย
- การทำ Backward Integration หรือขยายเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบ เช่น มีโรงงานผลิตแป้งสาลี โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ โรงงานผลิตเครื่องปรุง ฯลฯ ซึ่งมีข้อดีคือทำให้มองเห็นต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากมาม่ามีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่ไม่สามารถขยับราคาขายเพิ่มได้ ก็จะใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนของบริษัทในเครือแทน นอกจากนี้ยังทำ Forward Integration โดยขยายไปในธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า วันนี้โรงงานของไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์จึงไม่ได้ผลิตเพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ยังผลิตเบเกอรี่ ขนมปัง และเครื่องดื่มด้วย
การเปลี่ยนผ่านในโลกยุคดิจิทัล
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล องค์กรอย่างไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ก็ปรับตัวตามโลกได้อย่างทันท่วงที ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายตลาดได้กว้างขึ้น โดยอาศัยเครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้
การทรานสฟอร์มภายในองค์กร เช่น การประชุมทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ การจัดเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการทำงานเอกสาร รวมทั้งการนำระบบ Cloud Computing มาใช้ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงไฟล์และแก้ไขเอกสารได้
การจัดการสายการผลิต เริ่มนำหุ่นยนต์ (Robot) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในไลน์การผลิตตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยใช้หุ่นยนต์บรรจุสินค้าใส่กล่องแทนแรงงานคน และใช้หุ่นยนต์ทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดหนัก เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อระหว่างคนสู่คน ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ต่อมาได้ต่อยอดใช้หุ่นยนต์ในงานบรรจุกล่องใส่หีบด้วย เท่ากับช่วยรักษาสุขภาพของพนักงานไปในตัว ถือเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงโควิด
การทำการตลาดออนไลน์ ในช่วงโควิดที่ประเทศต่าง ๆ ล็อกดาวน์ พฤติกรรมของคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ได้ขยับการตลาดจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ โดยใช้ Social media ในการสร้าง Brand Awareness และโปรโมทสินค้า โดยโพสต์ Product Highlight เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเฉลิมฉลองพิเศษต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังใช้ Micro Influencer ในการทำการตลาด แม้กลุ่มนี้จะมียอดคนติดตามไม่มากนัก แต่ถ้าหากใช้จำนวน Influencer ที่เหมาะสมและสินค้าที่โปรโมทนั้นเป็นสิ่งที่ Follower สนใจ ก็จะได้ Engagement ที่มากกว่ากลุ่ม Macro และสามารถกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในยุคนี้ ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับคู่ค้าและลูกค้าผู้บริโภค ปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการโปรโมท อย่างอินเดียที่ล็อกดาวน์ประเทศ 100% ยอดขายมาม่าเพิ่มขึ้น 10% จากการขายออนไลน์
และในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มาม่าเองใช้สูตร E + R = O โดยมีความหมายว่า E (Event) : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับ R (Response) : การตอบสนอง จะได้เท่ากับ O (Outcome) ผลลัพธ์ที่เราจะได้รับ ดังนั้น R ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ เราจะต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์ หรือรับมืออย่างไร เพื่อให้ได้ Outcome ที่ต้องการ ยกตัวอย่างในสถานการณ์โควิด-19 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เข้ามา มาม่าใช้ R คือความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่ากับลูกค้า คู่ค้า หรือภายในองค์กร ความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจ จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมาเสมอ การเปลี่ยนผ่านในโลกดิจิทัลก็เช่นกัน R ยังคงเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้
คำแนะนำที่มีค่า จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง
ในปี 2022 ที่ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ครบรอบ 50 ปี คุณพจนาประเมินตนเองว่า 50 ปีแรกนี้ทำได้ดี แต่ไม่มีอะไรมาการันตีอนาคตธุรกิจในอีก 50 ปี ในการที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ 2i คือ Innovation เปลี่ยนจากการผลิตแบบ Volume Base เป็น Value Base เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอาหารเพื่อแก้ปัญหาการควบคุมราคาสินค้า และ International การส่งออกจะไม่จำกัดเฉพาะจาก 5 โรงงานในประเทศไทย แต่จะใช้โรงงานทั้ง 9 แห่งในโลกนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ คุณพจนาในฐานะรุ่นพี่ได้ฝากคำแนะนำดี ๆ ทิ้งท้ายไว้ดังนี้
ปัญหาคือบทเรียน ยอมรับและแก้ที่ต้นเหตุ แนะนำให้เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารมาลงลึกในรายละเอียด โดยใช้ทฤษฎีก้างปลา (Fish Bone Diagram) ในการวิเคราะห์ว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร ไม่ว่าจะเป็น Man, Machine, Method, Material หรือว่า Environment เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ถูกจุด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือต้องใช้ทฤษฎีดังกล่าววิเคราะห์ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาเดิมจบไปก็จะมีปัญหาใหม่ ๆ มาให้แก้ไขเสมอ
ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ เลือกใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรก็ได้ที่ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัย เห็นภาพธุรกิจทั้งหมดแบบเรียลทาม เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือตัดสินใจที่รวดเร็ว
เติมความรู้ให้พนักงานเสมอ มีการ Retrain และ Reskill พนักงานด้วยทักษะและความรู้ใหม่ๆ ปรับมายด์เซ็ตของทีมให้เป็น Agile Mindset ที่เน้นความคล่องตัว ว่องไว มีความยืดหยุ่นสูง กล้าคิดที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ หากวัฒนธรรมองค์กรยังไม่เอื้อ ผู้นำคือคนสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นมา เพราะ Leader is Culture, Culture is Leader.
ที่มา :
- หลักสูตร ttb Digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17
ttb Digital LEAN Supply Chain หลักสูตรพัฒนาต่อยอดมาจาก ttb LEAN Supply Chain
ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน