ในการอบรมหลักสูตร ttb digial LEAN supply chain สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คุณณัฐภัทร ธเนศวรกุล Head of Strategy and Investment แห่ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาค
ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากกว่า 400 องค์กรทั่วโลก ได้มาร่วมแบ่งปันข้อมูลอินไซต์ ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรม พร้อมแนะนำเครื่องมือที่จะช่วยปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัลให้แก่ SME อย่างทันท่วงที ดังนี้
ทำไมต้องเร่งสปีดนวัตกรรม
ทุกวันนี้องค์กรมีอายุสั้นลงเรื่อย ๆ หากพิจารณาจากข้อมูลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าในปี 1960 อายุเฉลี่ยขององค์กรอยู่ที่ประมาณ 60 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยองค์กรเหลือเพียง 20 ปีเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะการเริ่มต้นธุรกิจใหม่มีต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งสตาร์ทอัพยังเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้องค์กรใหม่ๆ และธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และพร้อมที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดหรือดิสรัปตลาดทุกเมื่อ ซึ่งจากการสอบถามเหล่าผู้บริหารองค์กร 83% ทราบถึงผลกระทบอันเกิดจาก Digital Disruption เป็นอย่างดี แต่มีเพียง 30% ที่มีแผนสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ชัดเจน
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ย่อมจะมีอัตราการอยู่รอดสูงกว่า และมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าในระยะยาว นวัตกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง หาก SME คิดที่จะแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
แล้วนวัตกรรมองค์กรของเราอยู่ในระดับไหน
ในการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีเข็มทิศนำทาง เครื่องมือที่ RISE ออกแบบและแนะนำคือ Corporate Innovation Maturity Model (CIMM) ที่จะช่วยวัดระดับนวัตกรรมองค์กร ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- Newcomer ตระหนักว่านวัตกรรมมีความสำคัญ และจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นใดๆ
- Explorer มีแผนงานด้านนวัตกรรมองค์กรแล้ว และริเริ่มทดลองสร้างนวัตกรรมบางอย่าง
- Challenger วางโครงสร้างและออกแบบกระบวนการต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมองค์กร
- Practitioner มีประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมออกไปสู่ตลาด
- Champion ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม ที่สามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างความแตกต่างในตลาดได้อย่างชัดเจน ความท้าทายต่อไปคือการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
จุดแข็งของธุรกิจ SME คือโครงสร้างองค์กรไม่ซับซ้อน เน้นทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) แต่ทรัพยากรที่มีจำกัดเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ คำแนะนำคือ ผู้บริหารต้องทรานสฟอร์มมายด์เซ็ตของตนเอง มองหาอะไรใหม่ๆ เสมอ และใช้การสร้างเครือข่ายเป็นเครื่องมือในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นแต้มต่อในการแข่งขันในตลาด
เจาะลึกข้อมูลอินไซต์ที่น่าสนใจ
- อุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำในเรื่องนวัตกรรม ส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการถูกดิสรัปทั้งนั้น เช่น กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มไอทีและเทคโนโลยี และกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน
- องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่มักมีสมดุลที่ดีในการลงทุนทั้งในเรื่องของบุคลากรและเทคโนโลยี
- องค์กรที่ก้าวสู่ระดับ 4 Practitioner และระดับ 5 Champion ได้สำเร็จ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ มีไม่ถึง 20% แสดงให้เห็นว่าการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องท้าทายกว่าที่คิด
- เหตุผลที่นวัตกรรมองค์กรไปไม่ถึงฝั่งฝัน อาจเพราะมองข้ามบางปัจจัยที่สำคัญไป เช่น จ้างคนเก่งและซื้อเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ แต่ละเลยเรื่องกระบวนการทำงานที่ต้องยืดหยุ่นและคล่องตัว
3 แนวทางเพิ่มระดับนวัตกรรม
- Forward Looking Decision Making ท้าทายตนเองโดยคิดให้ไกลกว่าสิ่งที่ทำอยู่ หรือหลุดจากกรอบ Value Network ที่ธุรกิจมี โดยเลือกโฟกัสที่ตลาด แล้วกล้าที่จะวาดภาพองค์กรว่าเราอยากจะเป็นอะไรในอนาคต
- Autonomous and Flexible Process กระบวนการสร้างนวัตกรรมต้องเริ่มจากเล็ก ๆ ง่าย ๆ รับฟังลูกค้าให้มาก ทดสอบ ปรับปรุง และเรียนรู้ไปด้วยกัน วิธีนี้พิสูจน์แล้วว่าจะได้นวัตกรรมที่ถูกลง ตรงตลาดมากขึ้น
- Ecosystem Building เพราะเราไม่สามารถเป็นทุกสิ่งให้กับทุกคนได้ องค์กรที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรมจึงมักโฟกัสในสิ่งที่ตนถนัด แล้วเลือกทำงานร่วมกับมืออาชีพด้านต่างๆ เพื่อออกนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
การสร้างนวัตกรรมองค์กรนั้นไม่ง่าย แต่จำเป็นต้องทำ ที่สำคัญการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น หากแต่เป็นการวิ่งมาราธอน ต้องอาศัยความอึด การลงมือคิดและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อหา S-Curve ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แข่งขันได้อย่างยั่งยืน และสร้างการอยู่รอดให้กับองค์กรในระยะยาว
ใช้เทคโนโลยีสร้างความได้เปรียบ
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa มาร่วมตอกย้ำความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจสมัยใหม่ โดย คุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ depaกล่าวว่าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ SME ไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่าคู่แข่งในตลาด เพียงแค่นำข้อมูลมาใช้ให้เป็นก็จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น หรือเลือกอัลกอริทึมที่เหมาะกับธุรกิจก็จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจมหาศาล
ทุกวันนี้การดิสรัปเกิดขึ้นเร็วมาก หลายธุรกิจต้องเพลี่ยงพล้ำล้มหายตายจาก แต่การดำรงอยู่ของธุรกิจในวันนี้ก็ใช่ว่าจะการันตีความอยู่รอดของธุรกิจเสมอไป ขนาดหน่วยงานภาครัฐก็ต้องทรานสฟอร์มองค์กร เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น SME ก็ต้องดิสรัปตนเองเช่นกัน ก่อนที่จะถูกคนอื่นมาดิสรัป ต้องเรียนรู้การใช้ความสามารถของเครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ โดยเอาความต้องการ ปัญหา (Pain Point) ตลอดจนความพึงพอใจของลูกค้าในอนาคตเป็นตัวตั้ง
ซึ่งที่ผ่านมา depa ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยสนับสนุน SME ในการทรานสฟอร์มหลายองค์กร และหลายโรงงาน ส่งผลให้ระบบการทำงานของ SME มีความคล่องตัว ลดเวลาการรอคอย ลดกระบวนการทำงาน ลดของเสียในกระบวนการผลิต ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันทีแบบเรียลไทม์ และสามารถนำไปเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนักสำหรับ SME แต่หากทลายกำแพงของตนเองดู และเริ่มต้นทดลองใช้งาน จะพบว่าไม่ยากอย่างที่คิด เทคโนโลยีจะเป็นผู้ช่วยที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ลดต้นทุนในการผลิต และเป็นสปริงบอร์ดส่งให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด กล่าวได้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ SME คุ้มค่าในระยะยาว ต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัดแน่นอน
ที่มา :
- หลักสูตร ttb digital LEAN supply chain รุ่นที่ 17
ttb digital LEAN supply chain โครงการพัฒนาต่อยอดมาจาก LEAN Supply Chain by ttb
ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน