สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกอาหาร คงจะคุ้นเคยกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นอย่างดี และในการอบรมหลักสูตร ttb digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17 สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจาก คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP มาฉายภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารว่ามีโอกาสหรือเทรนด์การค้าโลกอะไรที่รอเราอยู่บ้างในอนาคต
ภาพรวมตลาดส่งออก
แม้ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบให้ระบบโลจิสติกส์ปั่นป่วน ราคาพลังงานพุ่ง เกิดปัญหา Supply Chain Disruption ไปทั่วโลก แต่การส่งออกของไทยยังคงไปได้ดีอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งมีการเติบโตอยู่ที่ 22.58% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.41 แสนล้านบาท
ตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าเกษตรและอาหารไทย 5 อันดับ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีอัตราการเติบโตที่ดี
คู่ค้าใหม่ที่น่าสนใจ คือ ซาอุดีอาระเบีย จากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียในรอบกว่า 30 ปี และกระทรวงพาณิชย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะนักธุรกิจเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย
เพื่อเจรจาการค้า และได้มีการลงนาม MOU จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กับ สมาพันธ์หอการค้าแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยคาดการณ์ว่าทั้ง 2 ประเทศจะสามารถทำการค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทภายในหนึ่งปี โดยกลุ่มสินค้าอาหาร เป็นสินค้าสำคัญที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อชาวซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ ในอนาคตซาอุดีอาระเบียจะเป็นประตูในการกระจายสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ในตะวันออกกลาง ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน ยูเออี กาตาร์ และคูเวต
การส่งออกครึ่งปีหลัง 2565
- แนวโน้มตลาดยังเติบโต แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงมองบวก ในท่ามกลางวิกฤต โดยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 ว่าตลาดโลกจะเติบโตที่ 3% ในปี 2565 และตลาดที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูง คือ ตะวันออกกลาง (4.8%) (โดย ซาอุดีอาระเบีย (7.6%))/ อินเดีย (7.4%) /ฟิลิปปินส์ (6.7%)/ อินโดนีเซีย (5.3%)/ มาเลเซีย (5.1%)
- ความไม่มั่นคงด้านอาหาร ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก
- สกุลเงินเอเชียอ่อนค่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อในประเทศ ส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย และทำให้เงินสกุลเอเชียรวมถึงเงินบาทอ่อนค่า สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคในเอเชียจึงลดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น
- ค่าเงินบาทอ่อนค่า ผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (local content) ในสัดส่วนสูง จะมีรายรับสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตที่ใช้ local content ต่ำจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าที่แพงขึ้น
- กระแส BCG Model : หรือกระแสรักษ์โลกกำลังมาแรง เมื่อตลาดโลกให้ความสำคัญกับ Bio-Circular-Green Economy รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) อย่างเข้มงวด ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สินค้ามีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าให้กับเพิ่มสินค้าส่งออกตามแนวทาง BCG เช่น สินค้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ ทดแทนการใช้วัสดุสิ้นเปลือง ลดการสร้างขยะ ลดการใช้พลังงาน คำนวนการปล่อยของเสีย ฯลฯ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากกฎกติกาการค้าโลกใหม่ได้
Future Food เทรนด์อาหารแห่งอนาคต
แนวโน้มที่ส่งผลต่อรูปแบบอาหารแห่งอนาคต
- Immunity Boosting / Nutrition อาหารเสริมภูมิคุ้มกันหรือให้สารอาหารที่ร่างกายต้องการ ตอบโจทย์สาย Healthy ที่รักสุขภาพ เช่น Probiotics ที่เพิ่มลงในอาหารเพื่อช่วยในเรื่องระบบการย่อย เช่น กลุ่มสินค้านมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ
- Climate Change อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ในภาคปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซมีเทนจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม เนื้อสัตว์ทดแทนที่มาจากพืชจึงได้รับความนิยม Plant-based food เป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ หรือต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน
- Elderly Food ปรากฏการณ์สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) เกิดขึ้นทั่วโลก อาหารเพื่อผู้สูงอายุจึงทวีความสำคัญ เช่น เจลที่เคี้ยวง่าย กลืนง่ายลดความเสี่ยงในการสำลัก ที่สำคัญมีสารอาหารที่ผู้สูงวัยต้องการครบถ้วน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย ถือว่ามีศักยภาพสูง เนื่องจากเราร่ำรวยวัตถุดิบในประเทศ ผู้ประกอบการมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้เทคโนโลยีมาช่วยเติมมูลค่าเพิ่มให้สินค้า โดยเฉพาะสินค้า Organic food ที่เป็นผลผลิตจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดโลกต้องการ เช่น ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ออแกนิค เป็นต้น
โอกาสการส่งออกสินค้าไทย
- เกาะกระแส Future Food ไว้ เพราะตลาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา หันมาสนใจการบริโภค Plant-based meat มากขึ้น ปัจจุบันมีสินค้า Plant-based meat ออกมาอย่างหลากหลาย ตอบโจทย์รสนิยมการบริโภคของทั้งฝั่งเอเชียและตะวันตก
- อย่าตกขบวนรถไฟลาว-จีน อีกโอกาสในการเชื่อมโยงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ จีน เพราะการขนส่งสินค้าจะเร็วขึ้น ต้นทุนจะลดลง
- จับตา RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าไทยเหลือศูนย์ทันทีเกือบ 30,000 รายการ ใน 14 ประเทศที่ร่วมเป็น FTA Partner ของ RCEP
- เดินหน้า Mini-FTA โอกาสเจาะตลาดเมืองรองสำหรับผู้ประกอบการไทย หลังกระทรวงพาณิชย์เดินเกมรุกเชื่อมสัมพันธ์กับ 5 เมืองในประเทศใหญ่ๆ เช่น ไห่หนาน-จีน โคฟุ-ญี่ปุ่น เตลังกานา-อินเดีย กานซู่-จีน และปูซาน- เกาหลีใต้
เพิ่มความได้เปรียบเสริมแกร่งด้วยกิจกรรมจากองค์กรภาครัฐในยุคดิจิทัล
ผู้ประกอบการสามารถการศึกษาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศ แต่เป็นกลุ่มที่จำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพราะความต้องการของผู้บริโภคจะมีความจำเพาะขึ้นเรื่อย ๆ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง DITP ก็มีข้อมูลไว้เพื่อบริการ และยังมีการทำ Online Business Matching ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ
- Application DITP ONE ที่ปรึกษาที่สามารถเข้าใช้งานและศึกษาข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ระบบสารสนเทศเชิงยุทธศาสตร์อัจฉริยะ เพื่อวิเคราะห์และบริหารงาน ด้านการส่งเสริมกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ DITP Business AI
- สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ NEA (New Economy Academy) เป็นหน่วยงานภายใต้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม ด้วยองค์ความรู้ด้านการส่งออก ตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการที่ไม่เคยส่งออกมาก่อนเลย หรือระดับกลางและระดับสูงที่เคยส่งออกมาบ้างแล้ว
DITP มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ใน 58 ประเทศทั่วโลก ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้ซื้อในต่างประเทศ ในการพบปะ ติดต่อ และเจรจาการค้า พร้อมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย และยังสามารถให้ข้อมูลด้านตลาดในประเทศต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ DITP มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และผสมผสาน (ไฮบริด) โดยงานที่เป็นออฟไลน์ เช่น งานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ จะมีการนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อค้าขายให้แก่ผู้ซื้อและผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเดินทางเข้าชมงานแบบออฟไลน์ได้
เทรนด์เหล่านี้ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ส่งออกที่มองหาโอกาสการค้าและการลงทุนใหม่ๆ และหากผู้ประกอบการท่านใดต้องการได้รับข้อมูลข่าวสารที่อัปเดตอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการติดตามกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DITP One ไว้ เพื่อไม่พลาดโอกาสทางการค้า
ที่มา :
- หลักสูตร ttb Digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17
ttb Digital LEAN Supply Chain หลักสูตรพัฒนาต่อยอดมาจาก ttb LEAN Supply Chain
ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน