เป็นที่ทราบกันดีว่าปีนี้เป็นปีที่มีปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวนไป 3-5 ปี โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ถึงปี 2028 แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ จะกระทบกับภาคธุรกิจอย่างไร finbiz by ttb จะขอมาเล่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ เมื่อมีปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” กัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “เอลนีโญ” โดยสังเขปกันก่อน “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” จะจัดว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติฝาแฝดชาย-หญิง ก็ได้ โดยเอลนีโญ ในภาษาสเปน หมายถึงเด็กผู้ชาย และ ลานีญา ก็คือเด็กผู้หญิง โดยฝาแฝดคู่นี้จะมีลักษณะที่สลับขั้วกัน โดยเป็นสภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลัน อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศโลก เมื่อกระแสลมเกิดการเปลี่ยนทิศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเกิดการเปลี่ยนแปลง สรุปได้ว่า
- “เอลนีโญ” ทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- “ลานีญา” ก็สลับกับเอลนีโญ คือทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยซึ่งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะต้องพบเจอกับความแห้งแล้งตั้งแต่ปีนี้จนถึงประมาณปี 2028 โดยมีข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดว่าปีนี้รายได้เกษตรกรกลุ่ม 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 8.40 แสนล้านบาท ลดลง 3.9% หรือราว 3.4 หมื่นล้านบาท จากปริมาณฝนที่ต่ำลง แต่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สามารถใช้ในการเกษตรได้อยู่ แต่ผลกระทบจะเห็นได้ชัดขึ้นในปี 2024 ที่ฝนแล้งและน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ถูกใช้ไปในปี 2023
ผลกระทบที่ไม่หยุดแค่ที่ภาคเกษตรกรรม
จากเอลนีโญ่ที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้ำแล้งกว่าปกติ ดังนั้นจึงทำให้กระทบกับภาคเกษตรกรรมโดยตรง นอกจากนั้นยังกระทบด้านอื่น ๆ อีกดังนี้
- เกษตรกรรม จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2022 เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยมีมูลค่า 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.1% ของขนาดเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศซึ่งอาจดูไม่มากนัก
- แรงงาน เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญเชิงระบบของภาคเศรษฐกิจไทย พบว่า ภาคเกษตรเป็นแหล่งงานให้กับคนเกือบ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.2% ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศ ต่อเนื่องมาจากที่ภาคเกษตรได้รับผลกระทบ
- การกระจายรายได้ เมื่อรายได้กระทบต่อแรงงานภาคเกษตรซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น รายได้แรงงานภาคเกษตรจึงเป็นกลไกสำคัญในการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่ไม่ได้มีการกระจุกตัวเหมือนกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม
- อุตสาหกรรมปุ๋ย และ เคมีทางการเกษตร ในปี 2024 รายได้อาจหดตัว 24-28% เหลือ 1.92 - 2.04 แสนล้านบาท โดยได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งในด้านราคาและปริมาณ
- อุตสาหกรรมการผลิต การขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง อาจมีช่วงเวลาที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก
- การท่องเที่ยว ความแปรปรวนของอากาศอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักท่องเที่ยวอาจไม่สะดวกเดินทางมาท่องเที่ยวเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
- ความมั่นคง หากปล่อยให้ภัยแล้งเดินทางไปถึงจุดวิกฤตอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่นความขัดแย้งระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนได้ ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ
จากผลกระทบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เอลนีโญ ไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้งที่จะกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่กระทบทุกภาคส่วน
การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน คือคำตอบ
“เมื่อเอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วมนุษย์อย่างเรา จะไปช่วยอะไรได้ ?” อาจจะเป็นเสียงที่อยู่ในความคิดบางขณะ แต่ความจริงมวลมนุษยชาติสามารถมีส่วนช่วยบรรเทาให้สถาการณ์เบาบางลงได้ แม้ว่าแท้จริงปรากฏการณ์ “เอลนีโญ และ ลานีญา” เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วโดยมีหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล กระแสน้ำ ความดันบรรยากาศในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน แต่ปัจจัยหนึ่งที่การศึกษาของศูนย์วิจัยแห่งชาติออสเตรเลีย (CSIRO) ระบุไว้คือ ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้กระแสลมแปรปรวนและเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น
ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และพร้อมรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาแนวทางต่างๆ ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance): โดยเฉพาะตัว E เพื่อช่วยส่งเสริมความยั่งยืนที่จะมีผลต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
- พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ประหยัดพลังงาน ผลิตภัณฑ์และบริการจากวัสดุรีไซเคิล การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
- เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะต่าง ๆ การใช้พลังงานหมุนเวียน
- กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น การขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างๆ การกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจประเภทต่างๆ เป็นต้น
- เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับสิ่งผิดปกติ การทำประกันภัยพิบัติ การฝึกอบรมพนักงานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น
- ภาคเกษตรทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือตรวจจับต่าง ๆ อาจสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ หรือเคมีที่ไม่จำเป็นได้ และลดการพึ่งพาน้ำจากปริมาณน้ำฝนธรรมชาติ ต้องมีระบบและการเตรียมการที่ดี
- การร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเรียนรู้แนวทางการปรับตัวรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญ และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงร่วมกันพัฒนาวิธีการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ช่วยให้การทำธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคเกษตรในการปรับตัวและรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญและภาวะโลกร้อน เช่น การให้ความรู้และคำแนะนำ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เป็นต้น
มีเงินทุน เป็นแรงหนุนที่สำคัญ...แหล่งเงินทุนธุรกิจเพื่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยแหล่งเงินทุนสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งสินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล โดยในไม่กี่ปีที่ผ่านมาหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่าหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ในไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปี 2022 มีการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมูลค่ารวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยผู้ออกหุ้นกู้ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน
โดยข้อมูลจากทหารไทยธนชาต พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยเทียบมูลค่าสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2022 กับ 2023 มีความเติบโตอย่างมาก และคาดว่าสิ้นปี 2023 จะมีมูลค่าสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วเป็นเท่าตัว เพราะเมื่อสิ้นปี 2022 มีมูลค่าสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม สีเขียว และสีฟ้ารวมกันเป็นมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 สินเชื่อดังกล่าวก็มีมูลค่าไปกว่า 8 พันล้านบาทแล้ว
จากปรากฏการณ์เอลนีโญและผลกระทบในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่เตือนให้ภาคธุรกิจได้เร่งมือกันดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยกันลดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะบรรเทาลงได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้
ที่มา :
- ttb analytics
- หน่วยงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
- กรมอุตุนิยมวิทยา
- สภาพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- คม ชัด ลึก ออนไลน์
- Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO)
- National Geographic
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME