ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ขั้นตอน “วัด-ลด-ชดเชย” ซึ่งในงานสัมมนา Sustainable Growth - The Way to Business of the Future ที่จัดขึ้นโดย ttb
คุณธาดา วรุณโชติกุล ผู้จัดการ สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้มาบรรยายในหัวข้อ “Carbon Footprint ขององค์กรสำคัญอย่างไรกับธุรกิจ” พร้อมสอนวิธีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ทุกท่านได้ไปประเมินก๊าซเรือนกระจกองค์กรกัน
เรียนรู้เครื่องมือใหม่ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร”
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) การคำนวณ ประเมิน และเปิดเผยรายงาน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญนักลงทุนจากต่างประเทศอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณาร่วมลงทุนกับธุรกิจท่านได้
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ถือเป็น “เครื่องมือ” ที่ใช้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในรูปแบบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในชีวิตประจำวัน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร โดยเป็นการวัดเชิงตัวเลขที่เราสามารถขยายผลนำไปสู่การลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อไป
ในที่นี้เราจะมาเรียนรู้ความหมายของ คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) คือ การประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ประเมินได้ในหน่วยของปริมาณเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ มีมาตรฐานสากลคือ ISO 14064-1 กำกับและรับรองในระดับประเทศ และมีการเก็บข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกตลอด 1 ปี
การคำนวณ CFO 7 ขั้นตอนทำเป็นแน่นอน
- การกำหนดขอบเขตการรายงาน
การรายงานก๊าซเรือนกระจกเป็นการทำบัญชีรายงานก๊าซเรือนกระจก เป็นรูปเล่มรายงานออกมา โดยต้องระบุว่ารายงานที่เราจะทำครอบคลุมพื้นที่ส่วนใดขององค์กร เช่น เฉพาะสำนักงานใหญ่ เฉพาะโรงงาน หรือทำทั้งองค์กรก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ยื่นขอการรับรองว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
- การกำหนดขอบเขตองค์กร มีอยู่ 2 แบบ ต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่งในการรายงาน ดังนี้
- แบบที่ 1 แบบควบคุม (Control Approach) แบ่งเป็นควบคุมทางการเงินและควบคุมการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบัน 99% ใช้วิธีควบคุมการดำเนินงาน เช่น การใช้ไฟฟ้าขององค์กร เพราะหากควบคุมได้ก็จะบริหารจัดการให้เกิดการลดลงของก๊าซเรือนกระจกได้
- แบบที่ 2 แบบปันส่วนตามกรรมสิทธิ์ (Equity Share) คือไม่ได้ควบคุม แต่ถือหุ้นร่วมทุนอย่างเดียว
- การกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 Scope ดังนี้
- Scope 1 Direct GHG Emissions & Removals เป็นการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรง หลักจำง่ายๆ คือ มีควันออกมาจากปล่อง มีการรั่วออกมาโดยตรง แบ่งการวัดออกเป็น
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่อยู่กับที่ เช่น การผลิตไฟฟ้า ความร้อนและไอน้ำใช้เองภายในองค์กร การเผาไหม้ของอุปกรณ์/เครื่องจักรที่องค์กรเป็นเจ้าของ เช่น การเผาไหม้ Generator การเผาไหม้ LPG เพื่อปรุงอาหาร การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล โดยเก็บข้อมูลปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในแต่ละเครื่องจักรและอุปกรณ์ ใช้หน่วยเป็นลิตรหรือกิโลกรัม
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากยานพาหนะที่องค์กรเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ รถบรรทุก รถโฟล์คลิฟท์ รถตัดหญ้า หรือว่ายานพาหนะที่มีอำนาจในการควบคุม เช่น รถเช่า องค์กรไหนมีเรือ เครื่องบิน รถไฟ เฮลิคอปเตอร์ ก็ต้องนำมารวมด้วย การเก็บข้อมูลส่วนนี้ค่อนข้างง่าย เพราะปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ใช้ Fleet Card กันหมดแล้ว สามารถดูได้เลยว่าแต่ละเดือนใช้เชื้อเพลิงไปกี่ลิตร
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต ไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้โดยตรงจากเชื้อเพลิง แต่เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิต เช่น กระบวนการ Calcinations ของการผลิตปูนซีเมนต์
- การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหล และอื่นๆ เช่น การรั่วไหลของสารทำความเย็น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ารั่วเท่าไร ให้ดูที่การซ่อมบำรุง ส่วนที่เติมคือส่วนที่เกิดการรั่วไหล
- การปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากของชีวมวล (ดินและป่าไม้) เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครรายงาน
- Scope 2 Energy Indirect GHG Emissions เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการใช้พลังงานที่เราซื้อหรือนำเข้ามา โดยที่องค์กรไม่ได้ผลิตเอง มีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน ความเย็น และอากาศอัด สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลสามารถดูได้จากใบเสร็จ เช่น บิลไฟฟ้าจะแจ้งกำลังไฟฟ้าที่ใช้เป็นกิโลวัตต์ต่อหน่วย
- Scope 3 Upstream & Downstream Activities เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรควบคุมไม่ได้ ให้รายงานเฉพาะแหล่งปล่อยที่มีนัยยะสำคัญ อย่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากวัตถุดิบตั้งต้นที่ซื้อมา เช่น ปริมาณการใช้กระดาษ A4, กระดาษทิชชู, น้ำประปา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ หากไม่มีไม่ต้องรายงาน แต่ปัจจุบันทาง TGO มีระเบียบออกมาแล้วว่าจะบังคับให้รายงาน Scope 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป
- การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก สมการง่ายๆ คือ
CO2e |
= Activity Data X Emission Factor หรือ |
ปริมาณก๊าซเรือนกระจก |
= ข้อมูลกิจกรรม X ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
หมายเหตุ ค่า Emission Factor ดูได้จากเว็บไซต์ของ TGO |
ตัวอย่างเช่น แผนกขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 137.01 kgCO2e
137.01 kgCO2e = ดีเซล 50 ลิตร X 2.7403 kgCO2e/ลิตร
แผนกโรงงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 24.99 kgCO2e
24.99 kgCO2e = ไฟฟ้า 50 kWh X 0.4999 kgCO2e/kWh
- การจัดทำเอกสารเพื่อรายงาน
นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำรายงานเป็นรูปเล่ม ในรูปแบบ Word, Excel และ PowerPoint ซึ่งทาง TGO มีรูปแบบการจัดทำรายงานให้เรียบร้อยแล้ว
- การทวนสอบ
ส่งรายงานให้กับผู้ตรวจสอบภายนอก เพื่อตรวจสอบข้อมูลในแง่ของความตรงประเด็น ความสมบูรณ์ ความไม่ขัดแย้งกัน ความถูกต้องและความโปร่งใส หลังจากผ่านการทวนสอบแล้ว ผู้ตรวจสอบจะออกรายงานการตรวจสอบ รายงานการทวนสอบ และถ้อยแถลงส่งมาที่ TGO ส่วนองค์กรมีหน้าที่กรอกใบสมัครขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเท่านั้น
- การขึ้นทะเบียน
TGO พิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยออกเป็น Certificate เพื่อรับรองว่าองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไรในแต่ละสโคป พร้อมนำข้อมูลที่ผ่านการขึ้นทะเบียนไปประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ให้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1,000 องค์กรที่ขึ้นทะเบียน CFO แล้ว
“การคำนวณไม่ยาก เพราะสูตรตายตัว แต่ความท้าทายคือ เราจะเก็บข้อมูลกิจกรรมเป็นเชิงตัวเลขได้ไหม วันนี้เราจำเป็นต้องเริ่มเก็บแล้ว หากเราอยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ เราต้องเตรียมข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไว้ให้เขาไปประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราไม่มี ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ และมีอย่างเดียวไม่พอ ถ้าคู่แข่งเรามีเช่นกัน แต่มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำกว่า เราอาจเสียโอกาสทางการแข่งขันได้
นอกจากนี้ เมื่อเรารู้ว่าแหล่งไหนในองค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ก็ต้องบริหารจัดการให้ลดลงด้วย เช่น วางแผนซ่อมบำรุง ปรับเทคโนโลยี เปลี่ยนอุปกรณ์ ส่วนที่ลดไม่ได้ก็ชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ซึ่งการชดเชยถือเป็น CSR รูปแบบใหม่ และทำให้ภาพรวมของประเทศมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงด้วย”
ที่มา :
- งานสัมมนา Sustainable Growth - The Way to Business of the Future โดย ttb
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME