ความรู้ด้านภาษีเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่หากผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจ ก็จะช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ได้รับผลประกอบการที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากหลักการคำนวณภาษีนิติบุคคลคิดจาก ‘กำไรสุทธิ’ หรือการนำ ‘รายได้’ มาหักลบกับ ‘ค่าใช้จ่าย’ หากมีรายจ่ายที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี เมื่อนำไปคิดภาษี ก็จะช่วยให้บริษัทของคุณจ่ายภาษีน้อยลงนั่นเอง
reserve magazine ขอชวนเจ้าของธุรกิจมาสำรวจค่าลดหย่อนภาษี เพื่อให้คุณสามารถวางแผนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างรัดกุม และยังได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีอย่างเต็มที่ในวิธีที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนครับ
1. ลดหย่อนภาษีด้วยค่าเสื่อมและค่าสึกหรอ
มาดูค่าลดหย่อนภาษีในส่วนแรกกันครับ สำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs สามารถนำค่าเสื่อมราคาและค่าสึกหรอของทรัพย์สินในบริษัทมาใช้ในการลดหย่อนได้ ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้อย่างง่ายดายเพราะเป็นการลดหย่อนจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วในบริษัท โดยทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยสามารถนำมาคิดค่าสึกหรอได้ถึง 40% จากต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนราคามูลค่าที่เหลือจะทยอยหักค่าลดหย่อนได้ภายใน 3 รอบบัญชี, สินทรัพย์ประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องจักร นำมาคิดค่าสึกหรอได้ 40% จากต้นทุนในวันที่ได้มาเช่นกัน ส่วนมูลค่าที่เหลือจะทยอยหักค่าลดหย่อนได้ภายใน 5 ปี และสินทรัพย์ประเภทอาคารโรงงาน ที่มีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 20 ปี สามารถนำมาคิดค่าสึกหรอได้ 25% จากต้นทุนในวันที่ได้มา และมูลค่าที่เหลือจะถูกนำมาทยอยหักค่าลดหย่อนได้ภายใน 20 ปี
2. ค่าจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า
สำหรับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีลำดับต่อมา หากบริษัทคุณมีการจ้างงานผู้สูงอายุ ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของพนักงานสูงอายุไปลดหย่อนภาษีบริษัทได้ตามมาตรการของกรมสรรพากร โดยนำค่าแรงมาคิดรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ถูกจ้างต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และจะต้องเป็นลูกจ้างอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน รวมถึงต้องไม่เคยเป็นกรรมการฯ บริษัท หรือบริษัทในเครือมาก่อน โดยการจ้างงานพนักงานสูงอายุเพื่อนำมาหักรายจ่ายของธุรกิจนั้นจะไม่เกิน 10% ของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งหากคุณสนใจจ้างงานผู้สูงอายุ อย่าลืมแจ้งการใช้สิทธิจ้างงานผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากรด้วยนะครับ
3. ลดหย่อนภาษีด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
รู้หรือไม่ครับว่าหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของคุณมีความสนใจต้องการลงทุนเพื่อทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คุณสามารถนำค่าใช้จ่ายจากกระบวนการเหล่านี้มาลดหย่อนภาษีได้ถึง 200% ของค่าใช้จ่ายจริงเลยทีเดียว โดยต้องยื่นรายละเอียดการวิจัยไปที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อตรวจสอบและรับรองก่อนว่าการวิจัยของคุณตรงตามเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์หรือไม่
4. ลดหย่อนภาษีด้วยค่าฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง
และหากคุณเชื่อมั่นว่าบริษัทจะดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้ด้วย “ความรู้” แล้วบริษัทคุณเองก็หมั่นเติมความรู้ใหม่ ๆ ให้กับพนักงานอยู่เสมอด้วยการส่งพนักงานเข้าคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ รายจ่ายด้านการอบรมเหล่านี้ไม่เสียเปล่าเลยนะครับ เพราะคุณสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า ซึ่งครอบคลุมการลดหย่อนจากทั้งค่าเล่าเรียน หรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่น ค่าลงทะเบียน รวมถึง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฯ เรียกเก็บจากบริษัท และค่าลดหย่อนด้านการอบรมนี้ยังรวมถึงกรณีการจัดการอบรมภายในองค์กร โดยจะต้องเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของพนังงาน ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
5. ลดหย่อนภาษีด้วยการทำประกันชีวิตและประกันภัย
สำหรับค่าลดหย่อนภาษีในส่วนสุดท้าย ได้แก่ การทำประกันให้กับพนักงานที่นอกจากพนักงานของคุณจะได้รับความคุ้มครองแล้ว คุณยังสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาเป็นหนึ่งในต้นทุนการดำเนินงานและนำมาลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรได้อีกด้วย ซึ่งยังรวมถึงการป้องกันความเสี่ยงให้การดำเนินธุรกิจด้วยการซื้อประกันภัยอื่น ๆ อาทิ ประกันวินาศภัย ประกันอัคคีภัย ประกันภัยพิบัติ ฯลฯ เป็นต้นครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณนำมาใช้วางแผนลดหย่อนภาษีได้ไม่มากก็น้อย และเพื่อให้ได้ใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีช่วยตรวจสอบดูแลความถูกต้องและความรัดกุมด้วยนะครับ
ที่มา :
https://www.rd.go.th/62063.html
https://www.rd.go.th/publish/47331.0.html
https://www.rd.go.th/47331.html