เมื่อเทรนด์การรักษ์โลกเกิดขึ้นนอกเหนือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ทุกวันนี้ถ้าเราพูดถึงเทรนด์สำคัญของโลกคงหนีไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษแทนโฟมหรือพลาสติก การแยกขยะ หรือการซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้ทดลองในสัตว์ จนไปถึงการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และปัจจุบันกระแสการรักษ์โลกไม่ได้หยุดอยู่แค่กิจกรรมในชีวิตประจำวันหรืออุตสาหกรรมการผลิตเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ยังขยายวงกว้างไปถึงตลาดเงินและตลาดทุนอีกด้วย เช่น การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การระดมทุนและลงทุนใน Green Bond, Sustainability Bond และ Sustainability-Linked-Bond เป็นต้น
เทรนด์ของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
กระแสรักษ์โลกนับวันยิ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงพยายามสร้างจุดขายของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลาทาโร ที่เราต่างคุ้นเคยกันดี ก็สร้างจุดขายผ่านการเล่าเรื่องราวควบคู่กับการสื่อสารความเป็นมิตรของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้รู้ว่าปลาทาโรในแต่ละถุงถูกผลิตขึ้นมาจากปลาอะไร ถูกจับมาจากแหล่งใด และทำลายระบบนิเวศของปลาทะเลหรือไม่ ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ เพียงแค่สแกน QR Code จากซองบรรจุภัณฑ์
อีกตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่น คือ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่จุดเริ่มต้นมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla ที่มุ่งพัฒนาและสร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง และค่อย ๆ เกิดกระแสความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดแรงกระเพื่อมให้ค่ายรถยนต์อื่น ๆ ต้องหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลก และนอกจากนี้เราอาจมาดูตัวอย่างธุรกิจเล็ก ๆ ที่น่าสนใจอย่าง Toast เบียร์จากประเทศอังกฤษที่สร้างเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยการเอาขนมปังเหลือทิ้งไปผลิตเป็นเบียร์ ซึ่งดึงดูดให้นักดื่มสนใจอยากลองลิ้มรสจนเกิดกระแสตอบรับที่ดี โดยนับตั้งแต่เริ่มผลิต Toast สามารถผลิตเบียร์ได้ถึง 1.7 ล้านขวด และช่วยลดการทิ้งขนมปังได้ถึง 2 ล้านชิ้น และโมเดลธุรกิจนี้ยังจุดประกายความสนใจไปยังผู้ผลิตเบียร์หลาย ๆ ประเทศในยุโรปอีกด้วย
โอกาสดี ๆ สำหรับการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเจ้าของธุรกิจ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรคือโอกาสดี ๆ ของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ reserve magazine มีตัวอย่าง มาเล่าให้ฟังกันครับ
• โอกาสจากการได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco Labelling)
ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ในหลากหลายระดับเลยนะครับ และบางครั้งก็ไม่จำเป็นอาศัยเงินลงทุนมหาศาลเหมือนที่ทุกคนคิด ยกตัวอย่างนะครับ หากเราสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมก็จะเพิ่มเรื่องราวให้กับสินค้าของเราได้ โดยฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องหมายสื่อสารความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของสินค้าให้ผู้ซื้อรับทราบ ปัจจุบันมีฉลากสิ่งแวดล้อมหลากหลายประเภท อาทิ ฉลากการผลิตที่มีความยั่งยืน ฉลากสินค้าออร์แกนิค ฉลากสินค้าเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งจุดขายนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศแล้ว ยังเพิ่มโอกาสการขยายตลาดไปต่างประเทศได้อีกด้วยเมื่อสินค้าของเราได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เช่น EU Flower และ Blue Angel จากทางฝั่งยุโรป หรือ Green Seal และ USDA Organic จากทางฝั่งอเมริกา เป็นต้นครับ
• โอกาสจากการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน โดยให้การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งภาคธุรกิจสามารถได้รับสิทธิ์ส่งเสริมดังกล่าวจนถึงปี 2568 เมื่อยื่นขอสิทธิ์ภายในปี 2565 ครับ ดังนั้นเราสามารถใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มประสิทธิด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว และส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจไปพร้อมกันครับ
• โอกาสจากการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับหลายคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบำบัดของเสียหรือมลพิษ หรือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงกังวลเรื่องแหล่งเงินลงทุน ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้วครับ เพราะปัจจุบันเราสามารถเลือกระดมเงินทุนผ่านตราสารหนี้ Sustainability-Linked Bond (SLB) ที่มีเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยตามเป้าหมายความสำเร็จทางสิ่งแวดล้อมที่เราตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น สมมติเราระดมเงินทุนผ่านตราสารหนี้ SLB โดยกำหนดการจ่ายผลตอบแทนแก่นักลงทุนไว้ 5% (± 1%) และกำหนดเป้าหมายความสำเร็จทางสิ่งแวดล้อมเอาไว้ อาทิ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หากเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว เราก็จ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนเพียง 4% เท่านั้น
และนอกจากโอกาสสำหรับเจ้าของธุรกิจที่กล่าวไปตอนต้นนะครับ สำหรับนักลงทุนเองคงทราบกันดีว่าการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนเป็นกระแสการลงทุนที่เติบโตอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนจะระดมเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบริษัทที่มีบรรษัทภิบาล และวันนี้ reserve magazine ขอแนะนำกองทุนเปิด ยูไนเต็ด แบตเตอรี่ แอนด์ อีวี เทคโนโลยี ฟันด์ (UEV) ที่มุ่งลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การขุดวัตถุดิบเพื่อทำแบตเตอรี่ การผลิตแบตเตอรี่ การพัฒนาระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ จนไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต เนื่องจากกระแสการตื่นตัวของค่ายรถยนต์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจากทางฝั่งอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชีย ที่พยายามผลักดันการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเอาจริงเอาจัง โดย Global EV Outlook 2021 คาดการณ์ว่า จำนวนรถยนต์ไฟ้ฟ้าสะสมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 145 ล้านคันในปี 2030 จากเดิมที่มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมเพียง 10 ล้านคันในปี 2020 และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็น Mega Trend ระดับโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น จึงถือเป็นกองทุนที่น่าสนใจที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตนั่นเองครับ
หากคุณสนใจโอกาสในการลงทุนใน Mega Trend ที่รักษ์โลกไปพร้อม ๆ กันอย่างกองทุน UEV สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลของท่าน หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวน คลิก
หมายเหตุ :
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลของคุณ หรือ ttb investment line โทร 1428 กด #4 ทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 – 17.30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)
- ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต International Energy Agency (EIA), Global EV Outlook, 2021
Urban Creature, TOAST เบียร์สัญชาติอังกฤษที่ใช้ขนมปังเหลือทิ้งมาทำเบียร์, 2021
Brand Buffet, มากกว่าขนม “ทาโร” ปั้นแบรนด์ยั่งยืน ตอกย้ำ “ธุรกิจ- สังคม-สิ่งแวดล้อม” ต้องไปพร้อมกัน, 2021