external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

2024 สี่ธีมการลงทุน แห่งความสุขทางการเงิน

25 ม.ค. 2567

ปี 2023 ผ่านพ้นไปอย่างงดงาม ตลาดหุ้นแทบทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีตามที่เราคาดการณ์ โดยดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่นักลงทุนกังวลกันว่าจะปรับตัวลงต่อจากดอกเบี้ยที่ยังไม่หยุดขึ้นกลับให้ผลตอบแทนอย่างน่าประทับใจเพราะดัชนี Nasdaq 100 ปรับขึ้นถึง 55% ด้วยแรงส่งจากการนำเทคโนโลยี Generative A.I. มาใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท นักลงทุนจึงเริ่มกังวลกันว่าตลาดการเงินโลกในปี 2024 นี้จะปรับตัวขึ้นต่อได้หรือไม่ หรือมันสายเกินไปที่จะเข้าไปลงทุนต่อ? ซึ่งเราต้องของบอกว่ายังไม่สายเกินไป ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อในปี 2024 นี้ แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยลบอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือ สงครามในตะวันออกกลาง มารบกวนตลาดเป็นระยะก็ตาม เนื่องจากเรามองว่ายังมีปัจจัยบวกอันทรงพลังอยู่ 4 ประการที่จะหักล้างปัจจัยลบดังกล่าวได้ ดังนี้

ผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่สำคัญในปี 2023 (Total Return Index)
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่สำคัญในปี 2023 (Total Return Index)
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่สำคัญในปี 2023 (Total Return Index)

Source: Bloomberg

1. วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศหลักใกล้สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ : ปี 2023 อัตราเงินเฟ้อในประเทศหลักชะลอลงต่อเนื่องตามที่เราคาด โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่ปรับลงจนใกล้เป้าหมายของ ECB ที่ 2% ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรปยอมรับว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงจริง นำไปสู่การตัดสินใจหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วง Q3/23 และเราก็มองว่าเป็นเรื่องยากที่ธนาคารกลางดังกล่าวจะกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอตัวลงต่อ จากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ แม้ OPEC+ จะลดกำลังการผลิตก็ตาม เพราะภาวะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้ไม่ดีและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง นอกจากนี้ ค่าเช่าในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวลงตาม Mortgage Rate ในตลาดที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการซื้อบ้านใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนำไปสู่อัตราค่าเช่าที่จะลดลงนั่นเอง ทั้งนี้ แม้เรามองว่า Fed ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่อาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตั้งแต่ Q1/24 ตามที่ตลาดคาด จนกว่าตัวเลขการจ้างงานในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาจะปรับตัวลงจนใกล้ติดลบ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาใกล้ระดับ 2% ซึ่งเราต้องมีการประเมินข้อมูลในอนาคตเพิ่มเติมว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้งตามที่ระบุใน Dot Plot เดือน ธ.ค. นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ธนาคารกลางอย่าง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ยโดยสมบูรณ์ เรามองว่าก็เพียงพอที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อได้โดยที่เงินเฟ้อไม่เร่งตัวขึ้น และนำไปสู่การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น

2. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะ Soft Landing เท่านั้น : จากที่ดอกเบี้ยไม่ขึ้นต่อ เงินเฟ้อชะลอตัว อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มาก และ GDP ประเทศที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ไม่ติดลบ ทำให้เรามองว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในประเทศหลักจะเข้าสู่ Soft Landing หรือ ขยายตัวในอัตราที่ลดลงเท่านั้น ไม่ถดถอย ส่งผลให้กำไรบริษัทในตลาดหุ้นยังเติบโตต่อได้โดยพาะในฝั่ง Developed Market (DM) ซึ่งในปัจจุบันนักวิเคราะห์ในตลาดยังมีการปรับประมาณการผลกำไรต่อหุ้นของตลาดฝั่ง DM ขึ้นต่อเนื่องอีกด้วย ขณะที่ฝั่ง Emerging Market (EM) ผลกำไรอาจผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน ในด้านการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเราจึงเน้นการลงทุนในฝั่ง DM เป็นหลักอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนฝั่ง EM เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นจีน มีเพียงตลาดหุ้นอินเดียที่ยังเป็น Highlight ของเราและแนะนำให้ลงทุน

3. Valuation ตลาดหุ้นน่าสนใจมากขึ้น : จากในปี 2032 ที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้นมาเร็ว ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นเมื่อพิจารณาทั้งในด้าน Earning Yield Gap (EY Gap) และ Trailing P/E นั้น ดูแพงมาก แต่ทั้งนี้ ในเมื่อ Bond Yield มีแนวโน้มปรับตัวลง และผลกำไรของบริษัทยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2024 ค่า EY Gap ย่อมมีแนวโน้มกว้างขึ้น และค่า Forward P/E ย่อมมีแนวโน้มปรับตัวลง สะท้อนถึง Valuation ของตลาดหุ้นที่ตึงตัวน้อยลง อันจะดึงดูดให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นต่อนั่นเอง

4. ความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ : ปัจจัยบวกสุดท้าย และเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของปี 2024 นี้คือเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งตามสถิติย้อนหลัง ตลาดหุ้นโลกมักปรับตัวขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งดังกล่าวโดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและไม่ว่าผู้แทนจากพรรคใดจะได้เป็นประธานาธิบดีก็ตาม เนื่องจากทั้ง Democrat และ Republican ต่างมีนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่แล้ว เช่น การลดภาษี และ American Rescue Plan ที่เคยเกิดขึ้น เป็นต้น เราจึงมองว่าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. จะส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นต่อได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี

ทั้งนี้ ในเมื่อเราทราบแล้วว่าทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากปัจจัยทั้ง 4 ที่เรากล่าว คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะลงทุนอย่างไรกันดี? เพราะไม่ใช่ว่าทุกตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ดีเหมือนกันหมด แม้ดัชนีตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวขึ้นได้ดี แต่บางตลาดอย่างเช่น จีน อาจปรับตัวลงต่อสวนทางตลาดอื่นๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2023 ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะ ttb Investment Office ของเราได้เตรียม Solution การลงทุนประจำปี 2024 มาให้กับทุกท่านแล้ว โดยเราชูสี่ธีมหลักการลงทุนที่ทุกท่านสามารถลงทุนตามเรากันตั้งแต่ต้นปีนี้ได้เลย ดังนี้


สี่ธีม สี่กลยุทธ์ การลงทุนประจำปี 2024 จาก ttb Investment Office

สี่ธีม สี่กลยุทธ์ การลงทุนประจำปี 2024 จาก ttb Investment Office


1. Market Normalization: Asset Allocation กลับมามีประสิทธิภาพ

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ตั้งแต่ปี 2022 ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ราคาหุ้นและพันธบัตรจึงปรับตัวลงไปด้วยกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำ Asset Allocation นั้นลดลง เพราะไม่ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงเท่าที่ควร หากเราพิจารณาค่า Correlation ระหว่างราคาหุ้นและพันธบัตรจะพบว่าค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าใกล้เลข 1 เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในพันธบัตรตามการจัดพอร์ตแบบปกติ ด้วย หุ้น 60% และ พันธบัตร 40% จะไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตตามหลักการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนนั่นเอง ทำให้นักลงทุนหลายท่านเริ่มเกิดคำถามว่า “เราจะจัดพอร์ตการลงทุนไปทำไมกัน?” ซึ่งเราต้องขอบอกว่าภาพที่ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อหักล้างผลกระทบของวิกฤติ Covid-19 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้และไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเปรียบเสมือนเป็นสิ่งไม่ปกติ (Outlier) ในตลาดการเงินโลก และเรามองว่าเป็นเรื่องยากมากที่โลกของเราจะเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างร้อนแรงอีกครั้งอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน พ.ย. 23 ที่ผ่านมา เมื่อเงินเฟ้อปรับตัวลงจนทำให้ Fed ตัดสินใจคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง และเริ่มสื่อสารถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่า Correlation ระหว่างหุ้นและพันธบัตรเริ่มปรับตัวลงจนใกล้จะติดลบเช่นเดิมแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า

เมื่อดอกเบี้ยในตลาดเริ่มนิ่งและมีแนวโน้มปรับตัวลงมาสู่ระดับปกติ การทำ Asset Allocation จะกลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น พอร์ตหุ้น 60% และ พันธบัตร 40% มีค่าความผันผวน (Volatility) ลดลงจนเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พร้อมกับสัดส่วน Return / Risk ที่กลับมาสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ดังนั้น เราจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาจัดพอร์ตการลงทุนกับเราอีกครั้งเพื่อตอบรับการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของตลาด และเพื่อให้พอร์ตของท่านสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอได้ในระยะยาวภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั่นเอง หากท่านยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรดี? ท่านไม่ต้องกังวลเพราะ ttb Investment Office ได้มีพอร์ตการลงทุนสำเร็จรูปที่เรียกว่า Advanced Asset Allocation (AAA) ซี่งมีตั้งแต่พอร์ตความเสี่ยงต่ำถึงความเสี่ยงสูง ให้ท่านได้เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับท่าน และในปี 2024 นี้ เรายังมีพอร์ตการลงทุนใหม่ที่เรียกว่า Passive Asset Allocation (PAA) เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับท่านที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยกองทุน ETF ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างต่ำและต้องการผลตอบแทนที่ค่อนข้างเป็นไปตามดัชนีตลาดหุ้น ทั้งนี้ กองทุนที่อยู่ในพอร์ต AAA ของเรานั้นแน่นอนว่าต้องมีกองทุน Highlight ประจำแต่ละธีมของเราประกอบอยู่ด้วย หากท่านสงสัยว่าควรจะลงทุนในกองทุน Highlight ของเราด้วยสัดส่วนเท่าใดดี ท่านสามารถดูสัดส่วนการลงทุนแนะนำตามพอร์ต AAA ของเราได้เลย

สี่ธีม สี่กลยุทธ์ การลงทุนประจำปี 2024 จาก ttb Investment Office

สุดท้ายนี้ หากท่านใดที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Risk Level 3 ขึ้นไป) ไม่มีเวลาติดตามภาวะตลาดและปรับพอร์ตการลงทุนตามโมเดล AAA ของเรา รวมทั้งต้องการ Income จากการลงทุนเป็นระยะ เราขอแนะนำลงทุนในกองทุน ES-GAINCOME* เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนระหว่างหุ้นและพันธบัตรในตัว มีการบริหารผลขาดทุนสูงสุดได้ดี และมีเป้าหมายที่จะจ่ายกระแสเงินสดระหว่างทางให้กับท่านอีกด้วย


2. Next Stage of Gen. A.I. : ก้าวต่อไปของ Gen. A.I. นำไปสู่การเติบโตของผลกำไรที่ดี

2023 คือปีแห่ง Generative A.I. (Gen. A.I.) อย่างแท้จริง ดังที่สุดคงหนีไม่พ้น Chat GPT ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การนำ Chatbot มาใช้ร่วมกับระบบ AI Knowledge Management ทำให้สามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็ว และตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าได้ตรงประเด็นมากขึ้น เป็นต้น บรรดาบริษัท Big Tech ในสหรัฐฯ ต่างพากันพัฒนาระบบ Chatbot เพื่อแข่งขันกับ OpenAI และ Microsoft ก่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และทำให้ผลกำไรของบริษัทมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นไม่สามารถเหนี่ยวรั้งการทำกำไรของกลุ่ม Big Tech ได้ และพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยี Gen. A.I. ไป

มาสู่ปี 2024 เรามองว่าจะเป็นก้าวต่อไปของ Generative A.I. ที่มีแนวโน้มสร้าง Content ได้มากกว่าข้อความ และรูปภาพ รวมทั้งจะมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นตามธีม Next Stage of Gen. A.I. ของเรานั่นเอง ทั้งนี้ แล้วอะไรที่จะเป็นสิ่งใหม่? บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีมองว่า Gen A.I. จะสามารถผสมผสานข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียงเพลง ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เราอาจสามารถให้ A.I. สร้างรูปภาพที่มีทั้งข้อความและเสียงเพลงมาพร้อมกันเลยได้ ในทางกลับกัน เราก็สามารถให้ A.I. แปลงภาพออกมาเป็นคำพูดได้เช่นกัน ทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้ A.I. ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น และนำไปสู่ความต้องการใช้ Application ที่มี A.I. แฝงมากขึ้นอีกด้วย ซี่งในขณะนี้ทาง OpenAI ก็ไม่ได้รอช้า ได้มีการเปิดตัว GPT Store เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เข้าสู่ปี 2024 ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลด App A.I. ที่ตรงกับความต้องการจากผู้พัฒนาที่เป็น Partner ของ OpenAI ได้ นอกจากนี้ Gen A.I. ยังมีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาให้ชาวโลกได้เข้าถึงมากขึ้นด้วยการย่อส่วนมาเป็น Small Language แต่คงไว้ซี่งประสิทธิภาพให้สามารถใช้งานบน PC หรือ Laptop ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องอาศัยพลังในการประมวลผลมากนัก อันจะทำให้หน่วยงานต่างๆ มีแนวโน้มนำ A.I. มาช่วยในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การนำ A.I. มาเสริมเรื่อง Cyber Security ให้แข็งแกร่งขึ้น เป็นตัน ในที่สุดจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทต่อไป

ถ้าธีม Gen. A.I. ยังโดดเด่นขนาดนี้ แล้วเราจะลงทุนอย่างไรดีเพื่อร่วมเติบโตไปด้วยกัน เราก็ต้องขอแนะนำกองทุน ES-USTECH* ให้กับท่าน และเป็นหนึ่งในกองทุน Highlight ประจำปี 2024 นี้ นั่นเป็นเพราะกองทุนเน้นการลงทุนในหุ้น Big Tech ของสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Gen A.I. อย่างเต็มที่ นำทีมโดย Apple, Microsoft และ Nvidia รวมทั้งยังมีหุ้นอื่นๆ ในกลุ่ม Semiconductor หรือก็คือผู้ผลิตชิปที่สำคัญอย่าง Broadcom, AMD

ราคาหุ้นกลุ่ม Info Tech ปรับขึ้นสอดคล้องกับประมาณการ EPS ที่เพิ่มขึ้น

และ Intel อีกด้วย ซึ่งชิปที่ใช้สร้าง A.I. นี้เปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี Gen. A.I. ดังนั้น ตราบใดที่โลกของเรายังต้องการพัฒนา Gen. A.I. อยู่ ความต้องการใช้ชิปก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้และผลกำไรของบริษัทกลุ่มผู้ผลิตชิปมีแนวโน้มเติบโตขึ้นนั่นเอง ส่วนพี่ใหญ่อย่าง Microsoft นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผู้นำของเทคโนโลยี Gen. A.I. ร่วมกับ OpenAI อยู่แล้ว และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ทาง Apple เองก็มีโอกาสได้ค่าคอมมิชชั่นจาก In App Purchase เพิ่มขึ้น และอาจมีการเปิดตัว Gen. A.I. ของตนในปี 2024 นี่ก็เป็นได้ แล้วเราจะไม่ลงทุนในกองทุน ES-USTECH ได้อย่างไร ทั้งนี้ หลายท่านอาจกังวลในเรื่อง Valuation ของหุ้นในกองทุน ES-USTECH เพราะปี 2023 ราคากองทุนปรับขึ้นถึง +46.38% แต่เราต้องบอกว่าของดีนั้น “แพงแล้ว ก็แพงได้อีก” หากมองในด้าน P/E อาจสูงก็จริง แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth อย่าง Big Tech นั้น

เราต้องพิจารณาแนวโน้มของ Earning Growth ประกอบด้วย เพราะการเติบโตของ Gen A.I. ที่ยังไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทกลุ่ม Big Tech สหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ Valuation ในด้าน Forward P/E หรือ PEG นั้นไม่ได้แพงมากจนไม่ควรเข้าไปลงทุน

ดังเช่น Nvidia ที่ปี 2023 ราคาหุ้นบวกประมาณ 240% จนทำให้ค่า Trailing P/E สูงถึง 70 เท่า แต่หลังจากที่ Nvidia ได้เปิดตัวชิป A.I. ใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้ PC หรือ Laptop ปกติสามารถใช้เทคโนโลยี Gen A.I. ประมวลผลได้โดยไม่ต้องใช้ผ่าน Platform ของ Vendor ต่างๆ และเป็นชิปที่สามารถส่งออกไปยังจีนได้ตามกฎหมายของสหรัฐฯ อีกด้วย ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่าผลกำไรของบริษัทจะเติบโตได้เป็นอย่างดี ค่า Forward P/E ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 28 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 33 เท่าเสียอีก แล้วแบบนี้ราคาหุ้นจะแพงมากจนไม่ควรลงทุนได้อย่างไร? เราจึงอย่ารอช้าและเริ่มลงทุนกับ ES-USTECH กันตั้งแต่ต้นปีได้ สุดท้ายนี้ มีอีกคำถามหนึ่งที่เราต้องตอบทุกท่านคือ หุ้น Big Tech ยังน่าลงทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ เข้าสู่ Soft Landing หรือไม่

ค่า Forward P/E ของ Nvidia ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเสียอีก

เราควรไปหุ้นกลุ่ม Defensive ไม่ดีกว่าหรือ? เราต้องขอบอกว่านับจากปี 2008 ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare จะปรับตัวลงน้อยกว่ากลุ่ม Big Tech เล็กน้อยในยามที่ 1). ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิด Recession ขึ้นอย่างหนักหน่วงจริงๆ และ 2). ในกรณที่ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหมือนในปี 2022 แต่ในเมื่อปี 2024 Fed ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และภาวะเศรษฐกิจเป็นเพียง Soft Landing โอกาสที่หุ้นกลุ่ม Defensive จะชนะ Quality Growth อย่าง Big Tech จึงเป็นเรื่องยาก ในทางตรงข้าม นักลงทุนจะวิ่งเข้าหา Big Tech ในช่วงเศรษฐกิจ Soft Landing เพราะกลุ่มดังกล่าวมีความสามารถในการทำกำไรสูงและต่อเนื่องนั่นเอง รวมทั้งยังมีเทคโนโลยี Gen. A.I. เข้ามาช่วยเสริม Earnings Growth อีกด้วย ทั้งนี้ กลุ่มที่เราอยากให้ทุกท่านหลีกเลี่ยงการลงทุนคือกลุ่ม Mid-Small Tech มากกว่า เพราะไม่ได้มีความสามารถในการทำกำไรได้สูงเหมือน Big Tech ดอกเบี้ย Fed แม้จะมีโอกาสปรับตัวลงแต่ก็ยังอยู่ระดับสูงอยู่ดี จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มดังกล่าวจะมีการเติบโตของผลกำไรที่ดีได้ รวมทั้งราคาหุ้น กลุ่ม Mid-Small Tech มักจะผันผวนตามราคา Bitcoin อีกด้วย จึงไม่ควรลงทุน


3. Economic Recovery: High Growth & Turn Around

การเติบโตทางเศรษฐกิจ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่นักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นการวิเคราะห์จากปัจจัยมหภาค เนื่องด้วยประเทศหรือภูมิภาคที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดี ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวสูงขึ้นตาม รวมถึงจะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามา อันเป็นปัจจัยส่งเสริมราคาหุ้นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งหากพิจารณาในเชิงการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2024 เมื่อเทียบกับการเติบโตในปี 2023 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มอ่อนแออยู่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบไปยังการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเทศ/ภูมิภาค ที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เช่น อินเดีย รวมถึงบางประเทศ/ภูมิภาค ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2024 นี้ เช่น ยุโรป เป็นต้น

GDP Growth Forecast

แหล่งที่มา: World Bank Global Economic Prospects (January 2024), IMF World Economic Outlook (October 2023)
หมายเหตุ: *ข้อมูลของประเทศอินเดียถูกนำเสนอในรูปแบบปีงบประมาณ (เมษายน-มีนาคม)


อินเดีย: เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง กับหลากหลายปัจจัยหนุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้สูงเป็นอันดับต้นๆของโลก และก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นในระยะหลัง โดยทาง IMF คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ในช่วงปี 2023-2028 ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจอินเดียสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นในระยะยาว คือ “ประชากร” โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา อินเดียแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.4 พันล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในระยะข้างหน้า กลับกันกับจีนที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลงในอนาคต อีกทั้งหากพิจารณาที่โครงสร้างประชากรของอินเดีย ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนค่อนข้างมากในโครงสร้างประชากรของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างประชากรของประเทศหลักอื่น ๆ ที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประชากรวัยแรงงานนี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย ทั้งในแง่ของการเป็นกำลังแรงงานในการทำให้เกิดผลิตผลทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับการบริโภค ที่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจอินเดียยังสามารถเติบโตได้ แม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ไม่สู้ดีนัก

ในส่วนระยะสั้นก็มีหลากหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย ปัจจัยแรกคือเงินเฟ้อและแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ในอดีตอินเดียถือเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย แต่จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงมาเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของ RBI ที่ 2%-6% ในระยะหลัง ได้ช่วยลดแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ RBI ที่ได้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.5% มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2023 ซึ่งเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนี้ ก็เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นอย่างมากในช่วงปี 2022-2023 ทั้งนี้แนวโน้มเงินเฟ้ออินเดียและของโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อในปี 2024 จะช่วยลดแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ RBI ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินเดียได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 นี้ และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียในปีนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออินเดียแม้จะยังเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของ RBI เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยมีปัจจัยกดดันหลักคือราคาอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ เอลนีโญ (El Niño) ที่รุนแรงในปีที่ผ่านมา จึงต้องจับตาการเคลื่อนไหวของราคาอาหารและพลังงาน ที่มีสัดส่วนรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งในการคำนวณเงินเฟ้ออินเดีย ซึ่งอาจอ่อนไหวไปตามราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งตรงส่วนนี้เอง รัฐบาลอินเดียได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมเงินเฟ้อ อันหมายถึงค่าครองชีพของประชาชนอินเดียไม่ให้สูงจนเกินไปนัก และเป็นปัจจัยที่สองที่เราต้องจับตาสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียในปีนี้

ปัจจัยที่สองคือการเลือกตั้ง ในปีนี้อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหากพิจารณาจากผลสำรวจคะแนนความนิยมแล้ว คุณ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย ซึ่งคาดว่าจะทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของคุณ Modi ได้เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการออกมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนโดยตรงในอินเดียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งอาจมีความไม่แน่นอน และอาจสร้างความผันผวนให้กับการลงทุนได้ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตา

ปัจจัยที่สามคือระดับราคาของตลาดหุ้นอินเดีย เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดหุ้นอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่โดดเด่น และให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดหุ้นโลกโดยรวมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จึงมักจะมีคำถามจากนักลงทุนอยู่เนือง ๆ ว่า ระดับราคาของตลาดหุ้นอินเดียจะแพงไปหรือไม่? ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะใช้เครื่องมือใดในการวัดความถูกความแพงของตลาดหุ้น ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) โดยหากใช้คาดการณ์ผลกำไรในอนาคต (Forward Earnings) มาคำนวณ P/E Ratio ตลาดหุ้นอินเดียที่มีคาดการณ์ผลกำไรสูง และส่วนใหญ่ถูกปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรในระยะหลัง ตามเศรษฐกิจอินเดียที่ยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ดูจะมีระดับราคาที่สมเหตุสมผล อยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย P/E Ratio ย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งคาดการณ์ผลกำไรที่สูงนี้เอง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกว่าระดับราคาของตลาดหุ้นอินเดียแพงไปหรือไม่? และเป็นปัจจัยที่นักลงทุนควรจับตา เพราะหากมีการปรับลดคาดการณ์ผลกำไร หรือมีโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นอื่นที่น่าสนใจมากกว่า ก็อาจทำให้ตลาดหุ้นอินเดียถูกขายทำกำไรในระยะสั้นได้

โดยสรุป ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและโดดเด่น เราจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย โดยคงคำแนะนำ Slightly Positive ต่อเนื่องจากปี 2023 โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถเลือกลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียผ่านกองทุน TMBINDAE* มีกองทุนหลักอย่าง Goldman Sachs India Equity Portfolio ที่นอกจากจะเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นอินเดียขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเติบโตสูงอีกด้วย โดยเฉพาะช่วงที่ดอกเบี้ยในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวหรือปรับตัวลง


ยุโรป: ปัจจัยกดดันเริ่มจางหาย ส่งเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้น

หากพูดถึงภูมิภาคที่เป็นที่กังวลว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คำตอบของนักลงทุนหลาย ๆ ท่าน คงพุ่งเป้าไปที่ยุโรป ที่เศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ซึ่งเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนี้ ได้เป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกว่า 450 bps นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2022 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2023 ก็ถือว่าออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายรายได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อของยุโรปที่ได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ ECB ได้หยุดขึ้นดอกเบี้ยนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 อีกทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อของยุโรปก็มีโอกาสชะลอตัวลงต่อ ประกอบกับโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ก็ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เช่นกัน แรงกดดันจากดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ ยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนค่าจ้างที่แท้จริงของยุโรปให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเมื่อไปรวมกับอัตราการว่างงานของยุโรปที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.4% ก็น่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคครัวเรือนของยุโรป และอาจเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากใน GDP ยุโรปให้ฟื้นตัวดีขึ้นนอกเหนือไปจากภาคการบริการ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวของยุโรปในขณะนี้ได้มีการฟื้นตัวอยู่เหนือระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากแรงกดดันหลักที่มีต่อเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาได้ผ่อนคลายลง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มที่จะผ่านจุดต่ำสุด และฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนที่สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุน ONE-EUROEQ* มีนโยบายลงทุนในหุ้นยุโรป หรือหากต้องการเน้นการลงทุนไปที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างเยอรมัน ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุน TMBGER* ได้เช่นกัน


การลงทุนทางเลือก: โอกาสสำหรับการลงทุนในพลังงานอาจชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจไม่เพียงส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังการลงทุนทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับพลังงานด้วย อันเนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นถูกกำหนกดจากกลไกของอุปสงค์และอุปทาน ที่มักแปรผันไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในขณะนี้ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกกดดันให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) จะมีการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อในปี 2024 แต่จากคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พบว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2025 และหากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไม่ได้ออกมาย่ำแย่อย่างที่นักลงทุนหลายท่านเป็นกังวล ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัว และเป็นโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ดังเช่นกองทุน KT-ENERGY* มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 นี้


4. Yield Capture: เจอโอกาสทอง ต้องรีบจับจองตราสารหนี้

ในช่วงปี 2021 หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดเมือง หลังจากที่เผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดี ประชาชนเริ่มออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากที่ต้องกักตัว หรือ Work From Home กันมานาน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ก็มาพร้อมกับเงินเฟ้อที่เริ่มเร่งตัวสูงขึ้นอย่างมาก เช่น ในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป พุ่งสูงมาเกือบถึงระดับ 10% (YoY) เลยทีเดียว ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากระดับ 0% - 0.25% มาสู่ระดับ 5.25% - 5.50% ในปี 2023 ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่าๆ เท่านั้น โดยผลกระทบคือ เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางมากขึ้น จนมาถึงช่วงกลางปี 2023 ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และรอดูท่าทีของตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไป

ttb Investment Product Strategist, Bloomberg, 18 December 2023

หลังจากที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ทำให้ในช่วงปัจจุบัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น น่าจะถึงระดับสูงสุดแล้ว โดยหากไปดูตัวเลขที่นักลงทุนคาดการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก Bloomberg ณ วันที่ 12/12/2023 พบว่า นักลงทุนมองธนาคารกลางส่วนใหญ่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย โดย

ttb Investment Product Strategist, Bloomberg, 12 December 2023

  • Fed น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยและน่าจะลงไปที่บริเวณประมาณ 4% ในช่วงสิ้นปี 2024
  • ECB น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยเช่นกันและน่าจะลงไปที่บริเวณ 2.6% ในช่วงสิ้นปี 2024
  • BOE น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยไปจนถึงประมาณ 4.5% ในช่วงสิ้นปี 2024
  • BOT นักลงทุนก็มองว่าน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงระดับ 2% ในช่วงสิ้นปี 2024

ดังนั้นในปัจจุบันช่วงที่ Bond Yield ยังอยู่ในระดับสูงจึงเป็นจังหวะที่ดี ที่จะเข้าไปทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ในกองทุนที่เราแนะนำอย่างเช่น กองทุน ES-GF*, KFAFIX-A* ซึ่งหาก Bond Yield ปรับตัวลดลงต่อจริง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลงตามที่เราและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ จะส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้มีโอกาสได้กำไรจากราคาพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น และยังได้อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงอีกด้วย

นี่เป็นทั้งหมดของ 4 ธีมการลงทุนประจำปี 2024 ที่ ttb Investment Office ขอมอบให้กับทุกท่านเป็นของขวัญต้อนรับปีมังกรที่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจะกลับมาครองตลาด และเราขอให้ทุกท่านมีความสุขในการลงทุนร่วมไปกับเรา


ttb Investment Product Strategist
มกราคม 2024


ภาคผนวก: มุมมองการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ประจำปี 2024

มุมมองการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ประจำปี 2024

Source: ttb Investment Product Strategist, January 2024


* หมายเหตุ: ระดับความเสี่ยงกองทุน

  • กองทุน ES-GAINCOME ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5
  • กองทุน ES-USTECH ความเสี่ยงกองทุนระดับ 7
  • กองทุน TMBINDAE ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • กองทุน ONE-EUROEQ ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • กองทุน TMBGER ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • กองทุน KT-ENERGY ความเสี่ยงกองทุนระดับ 7
  • กองทุน ES-GF ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4
  • กองทุน KFAFIX-A ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4

คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน/กองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศ และไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้/ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถรับหนังสือชี้ชวนและลงทุนได้ที่ ทีทีบี ทุกสาขา

 

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด