ถึงแม้ว่าการเก็บเงินด้วยวิธีฝากเงินกับธนาคารจะเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างจะปลอดภัย และการันตีได้ในระดับหนึ่งเลยว่า เงินต้นของเราจะไม่หายไปกับความเสี่ยง แต่อย่างที่รู้กันว่ายุคนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่น้อยมาก การทุ่มเงินเก็บทั้งหมดเพื่อฝากไว้กินดอกเบี้ยกับธนาคาร จึงไม่ได้การันตีเลยว่า เราจะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีได้ หลายคนจึงหันมาลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเราชาวมนุษย์เงินเดือนก็ทำได้ง่าย ๆ และไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะอะไรมากมาย เพราะมีผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนช่วยคัดกรองมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว แถมยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์อีกด้วย
จริงอยู่ที่การลงทุนในกองทุนรวมเป็นทางเลือกที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดี และมีโอกาสมากมายในการทำกำไร แต่ถ้าเราลงทุนแบบไม่มีการวางแผนเลย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ตรงตามเป้าหมาย หรือไม่พอดีกับความต้องการของเรา บทความนี้จึงอยากชวนคุณมาวางแผนก่อนลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและตอบโจทย์ชีวิตมากที่สุด
สำหรับมนุษย์เงินเดือนคนไหนที่เริ่มลงทุนไปบ้างแล้ว ลองอ่านบทความนี้เพื่อทบทวนตัวเองดูอีกครั้ง ข้อไหนที่ทำได้ดีแล้ว ให้เก็บไว้แล้วไปต่อ ส่วนข้อไหนที่เราพลาดไป เริ่มต้นใหม่วันนี้เพื่อคว้าโอกาสในการได้รับผลตอบแทนสูงสุดไปพร้อม ๆ กันเลย
1 ลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ
เพราะกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลจะเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้เราได้ถึง 2 ต่อ หนึ่ง กำไรจากมูลค่าของหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น และสอง กระแสเงินสดจากเงินปันผลที่เราจะได้กลับมาเพื่อใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน หรือเราอาจจะนำเงินที่ได้มาลงทุนต่อยอด เพิ่มโอกาสในการกำไรได้อีกต่อหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น ในพอร์ตลงทุนของเราจึงควรมีกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลติดพอร์ตเอาไว้สักหน่อย
เคล็ดลับในการเลือกกองทุนรวมที่จะช่วยให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดก็คือ เลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินการที่ดี และมีนโยบายจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบจ่ายปันผล 1 ครั้งต่อปี ไปจนถึง 4-5 ครั้งต่อปี เช่น กองทุนรวมหุ้นปันผล ที่เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก กองทุนตราสารหนี้ ที่เหมาะกับคนที่ไม่อยากลงทุนในกองทุนที่มีความผันผวนสูง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นในเรื่องความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินปันผล
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ควรคำนึงไว้ก่อนจะลงทุนก็คือ กองทุนปันผลทั้งหลายจะต้องมีการเสียภาษีเงินปันผลจำนวน 10% ด้วย
2 ลงทุนอย่างมีวินัยและลงทุนเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องรอให้มีเงินก้อนใหญ่ก่อนถึงค่อยลงทุน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนอย่างเราที่มีรายได้เป็นประจำทุกเดือน สามารถวางแผนการเงิน และกำหนดสัดส่วนมาลงทุนเป็นประจำได้เลย โดยเฉพาะใครที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุน คุณควรวางแผนลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average) หรือลงทุนแบบ DCA เอาไว้ด้วย
การลงทุนแบบ DCA คือการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาสก็ได้ การลงทุนแบบนี้จะช่วยให้เรามนุษย์เงินเดือนที่เวลาน้อย ไม่ต้องคอยเฝ้าดูราคาขึ้นลงของราคาหน่วยลงทุน เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้การลงทุนของเราประสบความสำเร็จ ได้ผลตอบแทนตามที่เราพอใจก็คือ การกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะกำหนดไว้ที่ 5 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ เมื่อเราได้รับเงินเดือนขึ้นในทุก ๆ ปี อย่าลืมปรับสัดส่วนการลงทุนให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย หรืออาจจะกำหนดเป็นอัตราส่วนที่ชัดเจนไปเลยอย่างเช่น ลงทุนเป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แบบนี้ก็จะง่ายต่อการคำนวณเงินที่จะนำมาใช้ลงทุน
การจะลงทุนแต่ละครั้ง ไม่จำเป็นต้องมีเงินถึงหลักพันหลักหมื่นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกองทุนรวม ทีทีบี สมาร์ต พอร์ต แค่ 1 บาท ก็เริ่มต้นลงทุนได้แล้ว ลงทุนง่าย สบายใจ ใคร…ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนดี นี่จึงเป็นโอกาสที่มนุษย์เงินเดือนจะลงทุนได้บ่อยเท่าที่ใจต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนสูงสุด
สนใจเริ่มต้นลงทุนกับ ทีทีบี สมาร์ต พอร์ต คลิก
3 ลงทุนโดยใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีอย่างเต็มที่
เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ควรจะมีกองทุนที่ช่วยในการลดหย่อนภาษีเอาไว้ด้วย อย่างเช่น กองทุนประเภท SSF ที่มีนโยบายว่าจะต้องถือไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ และกองทุน RMF ที่เน้นให้เราลงทุนเพื่อออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ โดยกำหนดให้สามารถขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปี กองทุนเหล่านี้นอกจากจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแล้ว ยังส่งเสริมให้เรามีเงินก้อนเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นอีกด้วย
ปัจจุบันข้อกำหนดของการลงทุนในกองทุนประเภท SSF และ RMF คือ กองทุน SSF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนกองทุน RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อนับรวมกองทุน RMF และ SSF เข้ากับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ของภาครัฐแล้ว มูลค่าการลงทุนทั้งหมดจะต้องไม่มากกว่า 500,000 บาท
ในการซื้อกองทุนประเภท SSF และ RMF ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องซื้อเป็นก้อนใหญ่ แต่เราค่อย ๆ ทยอยซื้อตามหลักการลงทุนแบบ DCA จนไปถึงเป้าหมายได้แบบสบาย ๆ
เพียงวางแผนการเงิน เลือกลงทุนในกองทุนรวมที่พอดีกับตัวเอง และลงทุนอย่างมีวินัย ก็จะทำให้โอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นและคุ้มค่ามากขึ้น ยิ่งในยุคที่เราสามารถซื้อกองทุนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชัน การลงทุนในกองทุนรวมจึงเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย ง่ายดาย ทุกคนมีโอกาสไปถึงเป้าหมายของตัวเองได้ เพื่อให้ชีวิตทางการเงินดีขึ้น