external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

คุ้มครองแบบพอดี วัยนี้ควรเลือกประกันอะไร?

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #วางแผนชีวิต

18 พ.ย. 2564


  • ประกันที่เหมาะสม สำหรับแต่ละช่วงวัย

 

ในแต่ละช่วงวัย กิจกรรม หรือไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตก็ค่อนข้างที่จะต่างกัน จะให้ทำประกันประเภทเดียวกันก็คงจะเป็นเรื่องยาก แล้วคุณล่ะรู้ไหมว่าในแต่ละวัยนั้นควรทำประกันประเภทไหนกันบ้าง ? เพราะประเภทของประกันนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อข้องใจกับคำถามสุดฮิต “วัยนี้ต้องซื้อประกันแบบไหน?” กันครับ

 

ประกันสำหรับเด็ก

เริ่มต้นด้วยวัยเด็ก วัยแห่งการเริ่มต้นและเรียนรู้ เด็กในวัยนี้เหมาะกับการทำ “ประกันสุขภาพ” และ “ประกันอุบัติเหตุ” มากที่สุด เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง รวมถึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น การทำประกันสุขภาพนั้นค่อนข้างที่จะช่วยในการแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ได้มากพอสมควร แม้ว่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับวัยเด็กจะค่อนข้างสูง แต่หากเทียบกับค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็ควรพิจารณามีไว้ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด

 

ประกันสำหรับวัยรุ่น

วัยนี้ เริ่มที่จะเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น ทำให้เหมาะกับการทำ “ประกันอุบัติเหตุ” มากที่สุด เนื่องจากอยู่ในช่วงที่อยากรู้ อยากลอง และมักจะมีกิจกรรม หรือการเล่นกีฬาที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ เช่น การเล่นสเก็ตบอร์ด หรือแม้แต่การขับขี่รถจักรยายนต์ และรถยนต์ก็ตาม ฉะนั้น ประกันอุบัติเหตุจึงถือว่าตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของช่วงวัยนี้มากที่สุดนั่นเอง

 

ประกันสำหรับผู้ใหญ่

ในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเข้าสู่การทำงาน ทำให้เริ่มมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งเป็นวัยที่เริ่มสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวเองในอนาคต จึงเหมาะกับการทำ “ประกันสะสมทรัพย์” เนื่องจากวัยทำงานนั้นมีประกันสังคมอยู่แล้ว และเบี้ยประกันของประกันสะสมทรัพย์นั้นอยู่ในระดับที่คนวัยนี้สามารถจ่ายได้ แถมยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างวินัยในการออมเงิน และยังช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกทางด้วย

 

ประกันสำหรับผู้ใหญ่ตอนปลาย

ในช่วงวัยนี้ หลาย ๆ คนมักจะเริ่มมีครอบครัวกันแล้ว การทำ “ประกันชีวิต” จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างตอบโจทย์มากที่สุด เนื่องจากวัยนี้มักจะเป็นเสาหลักครอบครัว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ภาระต่าง ๆ ที่เคยแบกรับเอาไว้ก็คงจะต้องตกไปอยู่กับพ่อแม่ หรือคู่ครอง-บุตร ทำให้การมองอนาคต และเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดเป็นเรื่องสำคัญ ประกันสุขภาพ จึงควรทำตั้งแต่อายุ 31 ปีขึ้นไปในช่วงวัยทำงาน เพราะหากมาทำตอนอายุมาก จะทำให้เบี้ยประกันแพง และสมัครได้ยาก เนื่องจากมีประวัติสุขภาพแล้ว จะทำให้ประกันไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนทำประกัน

ควรทำ “ประกันโรคร้ายแรง” ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เริ่มมีสัญญาณของความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรง นอกจากนี้ประกันอีกแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้ก็คือ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” เป็นประกันที่ช่วยให้คุณได้รับเงินในเวลาที่เกษียณไปแล้ว ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ก็ยังคงจะมีเงินเก็บไว้ใช้นั่นเอง แต่อาจจะต้องวางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะได้รับเงินไม่ทันใช้เมื่อเกษียณนะ

 

ประกันสำหรับผู้สูงอายุ

ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เริ่มจะเกษียณกันแล้ว แต่ว่าประกันที่เหมาะนั้นกลับไม่ใช่ประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่กลับเป็น “ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งประกันสะสมทรัพย์ที่ส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน” เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเจ็บป่วยนั้นมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยอาจจะเลือกเป็นประกันสุขภาพโรคร้ายที่มักเกิดกับผู้สูงอายุก็ได้นะ

ส่วนมากการทำประกันให้กับคนช่วงวัยนี้มักจะให้บุตรเป็นคนทำให้ เนื่องจากสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อย่าคิดว่าการทำประกันในช่วงวัยนี้ไม่จำเป็น เพราะหากเจ็บป่วยที เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอาจจะหมดไปกับรักษาอย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้

เรามาทวนกันอีกครั้งว่าแต่ละช่วงวัย ควรเลือกประกัน หรือมีความคุ้มครองที่พอดีอย่างไรได้บ้าง ตามรายละเอียดตารางด้านล่างกันเลยครับ

 

ตารางสรุปประกันแต่ละช่วงวัย

อ่านถึงตรงนี้ ๆ หลาย ๆ คนคงเริ่มหาประกันที่เหมาะกับตัวเอง หรือคนที่เรารักกันแล้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกประกันในแต่ละช่วงวัย ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวเสมอไปที่จะตอบโจทย์ทุก ๆ คนเหมือนกัน หรือตอบโจทย์ได้ตลอดชีวิต เพราะไลฟ์สไตล์ และปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิตของคนเราต่างกัน

ดังนั้น เราจึงควรทบทวนความคุ้มครองที่มีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่มีโจทย์ เหตุการณ์ หรือบทบาทใหม่ในชีวิต เช่น แต่งงาน มีลูก เพื่อให้เรามั่นใจว่าความคุ้มครองที่มีอยู่นั้น เหมาะสมและเพียงพอแล้ว ซึ่งหากไม่เพียงพอ เราจะได้สามารถปรับเปลี่ยนแผนต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่งขึ้น

และสุดท้าย อย่าลืมอ่าน ศึกษา และทำความเข้าใจรายละเอียดกรมธรรม์ให้ละเอียดครบถ้วนเสียก่อนเสมอ หากมีข้อสงสัย ก็สามารถปรึกษากับตัวแทนจากบริษัทประกันต่าง ๆ ได้เพื่อหาประกันที่เหมาะสมกับตัวบุคคลให้มากที่สุด และเพื่อการวางแผนการเงินที่ดีขึ้นนะครับ

 

ประกันจากทีทีบี


ที่มา:

  • Finnomena.com
  • Alife.co.th
ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด