external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รวมเทคนิคตั้งรหัสผ่าน (Password) แบบปลอดภัย ห่างไกลแฮ็กเกอร์

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #digital #password

22 ก.ค. 2565


  • รู้ว่ารหัสผ่านที่ปลอดภัยต้องมีอะไรบ้าง?
  • เทคนิคการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัยและจำง่าย
  • ช่องทางตรวจสอบความแน่นหนาของรหัสผ่านของคุณ

 

ช่วงนี้มิจฉาชีพออนไลน์ระบาดหนักหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ทั่วไป ก็ต้องระมัดระวัง คิดหน้าคิดหลังก่อนใช้ทุกครั้ง ฉะนั้นสิ่งที่เปรียบเหมือนด่านแรกในการรักษาความปลอดภัยของแต่ละบัญชีออนไลน์ของคุณ ก็คือ รหัสผ่าน (Password) วันนี้ ttb จึงอยากนำเทคนิคง่าย ๆ และใช้ได้จริงในการตั้งรหัสผ่านให้แน่นหนา รัดกุม มาฝากทุกท่านครับ

แต่ก่อนที่จะไปรู้เทคนิคต่าง ๆ เราไปดูกันก่อนดีกว่าครับว่ารหัสผ่านที่ดี ขั้นต่ำ ควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

รหัสผ่านที่ดีควรมีอะไร

รหัสผ่านที่ดี ควรมีอะไร?

เพราะการตั้งรหัสผ่านหรือ Password ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ และต้องให้ความสำคัญ และไม่ควรใช้รหัสเดียวกันกับทุก account เพราะจะทำให้สืบค้นง่าย และคาดเดาได้ไม่ยาก

  • ควรมีความยาวที่เหมาะสม ประมาณ 10-14 characters ไม่ยาวเกินไปจนจำไม่ได้
    แต่ก็ไม่ได้สั้นเกินไปจนสามารถคาดเดาได้ง่ายจนเกินไป
  • ใช้ทุกอย่างบนแป้นพิมพ์ นั่นก็คือมีแป้นตัวอักษรเล็ก (abcd) ตัวอักษรใหญ่ (ABCD) ตัวเลข (1234)
    และแป้นสัญลักษณ์ ($#!?) เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับรหัสผ่านของคุณ
  • ไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวในการตั้งรหัสผ่าน เช่น วันเกิด หมายเลขโทรศัพท์ ไปจนถึงชื่อของตัวเอง
    เพราะเป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถรู้ได้อย่างง่ายดาย
  • ไม่ควรใช้รหัสผ่านเดียวกัน กับทุกบัญชีออนไลน์

เทคนิคการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัยและจำง่าย

เทคนิคการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัยและจำง่าย

ไม่อยากเสี่ยงถูกแฮกรหัสผ่าน (Password) ต้องระวังและหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ หรือจะเลือกใช้เทคนิคในการตั้งรหัสผ่านต่อไปนี้ดูก็ได้ครับ

เทคนิคที่ 1 ตั้งรหัสผ่านตามเพลง

เทคนิคแรก คือ การนำสิ่งที่เราชอบมาก ๆ มาตั้งเป็นรหัสผ่าน อย่าง เช่น เพลงจากศิลปินที่ชอบ เพราะจะเป็นสิ่งที่เราสามารถจดจำได้ง่าย และคาดเดาได้ยาก เช่น เพลงโปรดของคุณ คือ You All I Need To Get By อาจนำมาแปรงรหัสผ่านโดยนำตัวอักษรข้างต้นมาย่อว่า YaintgB แล้วเพิ่มเลขหรือสัญลักษณ์เข้าไปเพื่อสร้างความปลอดภัย เช่น YaintgB#34


เทคนิคที่ 2 ตั้งรหัสผ่านจากกีฬาที่ชื่นชอบ

เทคนิคนี้อาจนำนักกีฬาในดวงใจมาตั้งเป็นรหัสผ่าน โดยใช้ได้ทั้งชื่อ และเบอร์เสื้อของนักกีฬา อย่างเช่น หากคุณเป็นแฟนคลับวอลเล่ย์บอลหญิงไทยอาจใช้ชื่อนักกีฬาอย่าง ชัชชุอร โมกศรี (Chatchu-on Moksri) และหมายเลขผู้เล่นลำดับที่ 19 มาใช้ประกอบในรหัสผ่านของคุณ เช่น ChOnMo#19vnl


เทคนิคที่ 3 ตั้งรหัสผ่านด้วยการกลับภาษา

เทคนิคนี้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การตั้งรหัสเป็นภาษาไทย แต่แป้นพิมพ์ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ ยกตัวอย่างเช่น อยากใช้คำว่า ‘โซลเกาหลีใต้’ พอนำมากลับภาษาจะทำให้กลายเป็นรหัสที่ซับซ้อนอย่างเช่น F:]gdks]u.9h นั่นเองครับ


เทคนิคที่ 4 ใช้ตัวเลข แทนตัวอักษรบางตัว

การใช้ตัวเลขเข้ามาผสมกับตัวอักษรในรหัสผ่านจะยิ่งทำให้แฮกข้อมูลได้ยากขึ้น ซึ่งมีตัวเลขที่มีลักษณะคล้ายตัวอักษรมากมาย ช่วยให้จำง่าย เช่น

  • ตัวอักษร O กับเลข 0
  • ตัวอักษร A กับเลข 4
  • ตัวอักษร I กับเลข 1
  • ตัวอักษร S กับเลข 5
    นำมาประกอบในรหัสผ่านได้ในรูปแบบนี้ P455w0rd1# เป็นต้น


Final Tips : ตั้งรหัสที่ยากแต่ต้องจำได้!

พอเราตั้งรหัสผ่านที่แน่นหนามิดชิด ปัญหาที่อาจจะตามมาได้ก็คือ เรามักหลงลืมว่ารหัสผ่านคืออะไร? โดยเฉพาะในกรณีที่มีรหัสผ่านต้องจำเยอะแยะเต็มไปหมด ฉะนั้นเราจึงควรมีรูปแบบการตั้งรหัสผ่านที่จดจำง่าย เช่นบางคนตั้งรหัสให้สอดคล้องกับบัญชีนั้น ๆ ใช้ชื่อหนังสือโปรดในการตั้งรหัสโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงใช้หนังเรื่องโปรดตั้งเป็นรหัสของบัญชี แพลตฟอร์มความบันเทิง เป็นต้น หรือหากได้รหัสผ่านที่คุณมั่นใจว่าปลอดภัยแน่นอน ก็อาจยึดรหัสนั้น พร้อมเพิ่ม #1, #2, #3 ไปตามลำดับบัญชีออนไลน์ที่คุณใช้

เช็กความปลอดภัยของรหัสผ่าน

สุดท้ายแล้วคุณสามารถเช็กความปลอดภัย ของรหัสผ่านของตัวคุณเองได้ง่าย ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.security.org/how-secure-is-my-password/ ซึ่งสามารถคิดคำนวณว่าหากระบบคอมพิวเตอร์ต้องการที่จะแฮ็กคุณจริง ๆ จะต้องใช้เวลาในการแฮ็กยาวนานเท่าไหร่ ซึ่งรหัสผ่านที่ดีสามารถใช้เวลาหลายปี กว่าที่จะแฮ็กได้เลยทีเดียวครับ!

ยกตัวอย่างรหัสผ่าน F:]gdks]u.9h ระบบกล่าวว่าต้องใช้เวลายาวนานถึง 63,000 ปีกว่าจะสามารถแฮ็กได้ จึงถือว่าปลอดภัยหายห่วงอย่างแน่นอน!

อยากชักชวนให้มาตรวจสอบรหัสผ่านของคุณกัน! หากใครรหัสผ่านไม่แข็งแรง ลองนำหลักการตั้งรหัสผ่านที่เราแนะนำข้างต้น ไปใช้กันได้เลยครับ!


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • เว็บไซต์ aware.co.th
  • เว็บไซต์ blockdit.com
  • เว็บไซต์ notebookspec.com
ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด