external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

ป๊อปปี้ - ภาณุ
ก้าวเล็ก ๆ สู่บทบาท
เจ้าของบริษัท Little Lot

ก้าวเล็ก ๆ ของ ป๊อปปี้ - ภาณุ สู่บทบาทเจ้าของบริษัท Little Lot ที่สร้างร่วมกันกับภรรยา

21 มิ.ย. 2564

เมื่อมนุษย์คิดบวกสองคนมาเจอกัน จนเกิดเป็นความรักเล็ก ๆ ที่ก่อตัวขึ้นจนงอกงาม ส่งผลให้เกิด “Little Lot” บริษัทของเล่นและสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่อยากเป็นพลังเล็ก ๆ ในการเสริมสร้างพัฒนาสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “เด็ก” ให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพต่อไป..

เรื่องของ Attitude ที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองว่า “อุปสรรค ไม่ใช่อุปสรรค”
เราก็จะพบโอกาสทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม

เพราะเราเชื่อว่าการเล่นและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
คือการรดน้ำดูแลอย่างเอาใส่ใจ
ให้เมล็ดพันธุ์ในตัวเด็กเติบโตได้อย่างงดงาม

Little by little, let's explore how "Play" can shape the future
คือ Motto ของบริษัท Little Lot ของสองสามีภรรยาอารมณ์ดี ป๊อบปี้ ภาณุ จิระคุณ และแตงกวา นัชชา จิระคุณ ซึ่งเราเชื่อว่าบทสัมภาษณ์ของคนคู่นี้ จะสร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อพลังงานบวกให้กับใครได้อีกหลายคน

ชีวิตวัยเด็กของป๊อปปี้สู่การเป็นนักร้องบอยแบนด์วง K-OTIC ในวัย First Jobber
ที่มาที่ไปของผมมันมาจากก้าวเล็ก ๆ ในตอนเด็กที่ชอบร้องเพลงและบีบอยเล่น ๆ กันกับเพื่อน ๆ แล้วสุดท้ายได้ไป Casting ที่ Kamikaze จนได้เข้ามาเป็นสมาชิกวง K-OTIC ทำให้ได้นั่งรถตู้จากกรุงเทพฯ ไปตามที่ต่าง ๆ ได้เห็นชีวิตผู้คน เลยทำให้เราเริ่มชอบ Community Service ที่ได้เข้าไปตามชุมชน ไปทำเพื่อสังคม ด้วยความที่เป็น K-OTIC มันทำให้เรามีโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างเช่น ไปเป็น PR ของบริษัท ในช่วงน้ำท่วม เราก็ไปลงพื้นที่ ไปทำหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยได้ทำ อย่างผมเรียนคณะสถาปัตย์และเรียนผังเมืองมาด้วย เลยอยากจะเอาความรู้ตรงนี้ไปช่วยเหลือคนในชุมชน ยิ่งช่วงตอนปีสามปีสี่ เคยไปลงพื้นที่สร้างโรงเรียนอนุบาล เลยทำให้เรายิ่งรู้ตัวว่าชอบทำอะไรแบบนี้

จุดเปลี่ยนเล็ก ๆ สู่การเป็นผู้ใหญ่ในวัยที่มีครอบครัว

ป๊อปปี้ พอเรียนจบเราก็ตัดสินใจเปิดสตูดิโอ เลยมีโอกาสได้มาทำ Community Service อีกครั้ง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เราได้เจอกับแตงกวา เพราะแตงกวาเองเขาก็ชอบทำตรงนี้อยู่แล้วตั้งแต่เรียน และเราทั้งคู่เรียนคณะเดียวกัน แตงกวาเป็นรุ่นน้องผม 2 ปี

แตงกวา (ยิ้มเขิน) พื้นฐานเราเป็นคนชอบเด็กค่ะ และเรียนเปียโนมาด้วย ก็เลยมาสอนเปียโนเด็ก ทำให้ได้มาเจอพี่ป๊อปปี้ที่เขาก็ชอบทำอะไรเพื่อคนอื่นเหมือนกัน พี่เขาเลยชวนมาทำโปรเจคการกุศลที่เกี่ยวกับดนตรี

ป๊อปปี้ แล้วสุดท้ายได้มีโอกาสไปงาน Art for All ด้วยกัน ในงานเราก็ได้ไปสอนดนตรีน้อง ๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ พอได้ไปทำตรงนั้นเลยทำให้แตงกวาเขาเลือกที่จะทำ Thesis เพื่อช่วยน้อง สอนดนตรีน้องที่มีภาวะ Autism และสร้างสื่อที่เหมาะสมสำหรับน้องขึ้นมา ซึ่งช่วงนี้แหละครับที่ทำให้เราได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันและกันเรื่อยมา จนสุดท้ายก็ตัดสินใจแต่งงานกัน

เรื่องราวอะไรที่ทำให้คุณทั้งคู่ประทับใจในกันและกัน จนมั่นใจว่า คนนี้แหละ! คือคนที่คุณอยากจะอยู่ด้วยทั้งชีวิต?

แตงกวา ไม่เคยคิดมาก่อนเลยค่ะว่าจะมีคนที่คิดเหมือนกันได้ขนาดนี้ เข้าใจกันได้ขนาดนี้ รู้สึกว่าพออยู่ด้วยกันแล้ว เราใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมเกือบจะทั้งหมด และมันมีส่วนที่ดีขึ้นกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ป๊อปปี้ น่าจะเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจ” ด้วยพื้นฐานที่เราชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เช่น การอยากใช้ความสามารถที่ตัวเองมีเพื่อผู้อื่น พอมันเริ่มมาจากความชอบเดียวกัน ทุกอย่างมันก็คลิกไปเลย ไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องปรับ ทุกอย่าง Smooth ไปด้วยกัน เวลาคุยกับเขาก็เหมือนเราคุยกับตัวเอง แต่เมื่อวันใดที่มีความคิดเห็นต่างกัน เราก็ไม่มีความคิดที่จะมาแข่งกัน แต่เราจะแชร์กันว่า อ๋อ คิดอย่างนี้เหรอ? ทำไม? เพราะอะไร? แล้วเราจะปรึกษากันต่อว่า เราควรจะทำยังไงกับเรื่องนี้ดี จะไปต่อยังไงดี คงด้วยความ “พร้อมที่จะเข้าใจ” ก็เลยทำให้เราไม่มีปัญหาเวลาอยู่ด้วยกัน

Chapter ใหม่ของชีวิต กับการเป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์ “Little Lot” ของเล่นและสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก

ในส่วนนี้ต้องยกเครดิตให้กับ CEO ของเราเลยครับ เพราะเรานำไอเดียจาก Thesis ของแตงกวามาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นบริษัท Little Lot ขึ้นมา ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยกันคือ

1. Interactive Play คือ ของเล่นที่เป็นเทคโนโลยี ในรูปแบบ Traditional เป็นการใช้เทคโนโลยีในแบบที่เป็นมิตรกับเด็ก เช่น ตัวของเล่น BiiNo หรือ Interactive Space เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ไปในตัว

2. Learning Tools เป็นของเล่นสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการเด็ก เช่น The Discovery Project เป็นการให้เด็กได้สำรวจโลกด้วยการเชื่อมโยงกับชุดคำศัพท์ที่อยู่บนของเล่นที่เป็นกระดาษ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ผ่านการเล่นกับธรรมชาติ เช่น สี รูปทรง โดยการกำหนดโจทย์ แล้วให้เด็กวิ่งไปหาสิ่งที่เชื่อมโยงกัน เป็นการให้เด็กได้หัดสังเกต และได้ออกกำลังทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ไปด้วย

3. Workshop เป็นส่วนที่ทำให้เด็กได้เรียนและเล่นไปพร้อมกัน มีพื้นที่ให้เด็กได้ฝึกเป็นนักคิดและลงมือทำด้วยตนเอง เช่น การสร้างเมือง สร้างเกม โดยที่เราพยายามนำรูปแบบของผู้ใหญ่มาย่อยให้มันง่ายขึ้นเพื่อให้เด็กได้ลองทำ โดยจะแบ่งเป็นคลาส ๆ ไป

4. Design for Kids เป็นงานออกแบบเพื่อเด็ก หรือเกี่ยวข้องกับพ่อแม่และเด็ก เช่น การเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนในการดีไซน์หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเด็ก หรือร่วมพัฒนาและออกแบบห้องเรียน โดยมีโจทย์ว่าจะทำยังไงให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่สนุกมากยิ่งขึ้น

คาดหวังอะไรกับการที่เราสร้างของเล่นเด็กขึ้นมา และคิดว่าของเล่นเล็ก ๆ สักชิ้นจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง?

ป๊อปปี้ คาดหวังให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกครับ เพราะเราเชื่อว่าความเก่งไม่ได้มีแบบเดียว พอเรามาทำ 4 อย่างรวมกัน มันทำให้เราได้ศึกษาเรื่องเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ ได้เห็นมุมมองการเรียนรู้ของเขา เห็นวิธีคิดของเขา ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราต้องการทำให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข ผ่านของเล่น ไม่ใช่การอัดความรู้เข้าไปอย่างเดียว ในทุก Workshop ที่เราทำ บางทีมันก็เหนื่อยนะครับ แต่พอเราเห็นเมืองที่น้อง ๆ สร้างขึ้นมาเอง แล้วเขายืนมองผลงานของตัวเองด้วยสายตาที่มีความสุข พอเราได้เห็นเราก็แฮปปี้ไปด้วย หรือในส่วนของ Interactive Play ที่ฉายบนผนัง พอเขาเล่นจบแล้ววิ่งเข้ามาบอกเราว่า “โอ้โหห สนุกจังเลย ขออีกได้มั้ย เล่นอีกได้มั้ย?” แค่นี้มันก็ทำให้เรารู้สึกมีความสุขแล้ว

แตงกวา ระหว่างทางมันก็มีอะไรที่เราไม่คาดคิด อย่างเช่น เวลามีน้องกลับไป แล้วมี Feedback จากผู้ปกครองมาว่า น้องเรียนสร้างเมืองแล้วมาบอกแม่ว่าอยากเป็นสถาปนิกเลย ถ้ามีกิจกรรมอะไรชวนอีกได้นะ หรือน้องกลับบ้านไปแล้วคิดต่อยอดว่าจะทำให้เมืองของตัวเองดีขึ้นได้ยังไง จะช่วยเหลือคนอื่นได้ยังไง มันเป็นอะไรที่ฟังแล้วทำให้ใจฟู เหมือนเป็นการจุดประกายเล็ก ๆ ที่อาจจะทำให้น้องได้ค้นพบตัวเอง หรือเริ่มคิดถึงคนอื่นและส่วนรวมมากขึ้น

มีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามันยาก เป็นอุปสรรคที่เจอมั้ย?

ป๊อปปี้ ในการทำธุรกิจ เวลาไปสู่ส่วนที่เราไม่ได้ถนัดมาก เช่น บางทีต้องดีลกับคนอื่น หรือเจอกับ Supplier ที่หลากหลายก็พยายามที่จะทำความเข้าใจกันเพื่อที่จะไปต่อ วิธีแก้ของผมคือ ทำไปทีละนิด เพราะเราพยายามจะใส่ใจแต่ละดีเทล ว่าจะแก้ปัญหาส่วนนี้ยังไง แล้วก็ค่อย ๆ นำมาประกอบกัน บางทีมันมา 10 โจทย์พร้อมกัน เราก็แค่ทำทีละอย่าง เราไม่รีบ ถ้ามันจะดีเลย์ก็ต้องยอม เพราะเราอยากทำมันให้ละเอียดที่สุด ดีที่สุด

แตงกวา ตอนแรกที่เจอคำถามรู้สึกตอบยากมากเลยค่ะ “อาจเป็นเพราะเรามองว่าอุปสรรค ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ติดขัด แต่มันคือโจทย์ให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ


ถ้ามีใครสักคนอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเหมือนคุณ คุณจะแนะนำเขายังไง?

ป๊อปปี้ ถ้าเป็นเรื่องของเด็ก ก่อนอื่นเราต้องมองในจุดของเด็กก่อน ทำให้เขาอยากที่จะทำอะไรก่อนด้วยความสุข และต้องเชื่อในสิ่งที่เราทำอยู่ และทำต่อไป ทุกอย่างมันอาจไม่ได้เห็นผลเร็ว เพราะมันก็คือ Little Lot คือการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ

แตงกวา อยากให้เข้าใจว่าความเก่งไม่ใช่สิ่งตายตัว เด็กแต่ละคนมีความถนัด มีความเก่งในแบบของตัวเอง และมีวิธีเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน เราควรสร้างทางเลือกให้เด็กได้เอ็นจอย ไม่มีการตีกรอบ ไม่คิดแทน ไม่ตัดสิน


ในมุมผู้ประกอบการ ยิ่งประสบความสำเร็จและเห็นผลเร็วเท่าไหร่มันยิ่งดี แต่ทำไมถึงเลือกที่จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ?

ในมุม Management ถ้าทำให้เร็วได้ มันก็อาจจะดี แต่ทีนี้พอเรามาทำกันเอง และทุกอย่างที่ทำเป็นสิ่งใหม่ เราเลยต้องพยายามศึกษาและทำความเข้าใจในแต่ละส่วนที่กำลังทำอยู่ให้ลึกซึ้ง แต่สุดท้ายแล้ว 4 อย่างนี้มันกลับมาสนับสนุนกันเองในที่สุด และผมเชื่อว่าในแต่ละอย่างมันมีระยะเวลาในการตกตะกอนความคิดไม่เท่ากัน หลาย ๆ อย่างพอเราทิ้งเวลาไปสักพัก มันทำให้ความคิดเราเปลี่ยน ทำให้เราได้มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่มันซ่อนอยู่ในแต่ละเรื่อง พอชั่งน้ำหนักกันแล้ว เราให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่า เพราะแต่ละอย่างมันมี Target, Market ของมันอยู่แล้ว มันสามารถสร้าง Income จากแต่ละอย่างได้ เช่น อันนี้ทุนต่ำ จัดได้บ่อย อันนี้ทุนสูง แต่มันยั่งยืนในอนาคต ถ้าเราบาลานซ์มันได้ มันอาจจะสองอย่างช้า สองอย่างเร็ว เช่น สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เราจัด Workshop ไม่ได้ เราก็มีของเล่น และการเป็นที่ปรึกษาโรงเรียน มาช่วยเสริมให้เราไปต่อได้ และเหมือนเป็นความโชคดีที่เราได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้เรียนรู้ว่าอันไหน High Risk หรือ Low Risk หากอายุมากขึ้น อีกหน่อยก็คงนิ่งขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น


ในช่วงวัยที่เราโตขึ้นและมีครอบครัว แน่นอนว่าเรื่องการเงินย่อมเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น คุณมีวิธีบริหารจัดการยังไง?

พอแต่งงานแล้ว ไม่ได้รู้สึกตัวคนเดียวแล้ว อาจจะคิดถึงอนาคตมากขึ้น เช่น อยากมีเงินเก็บ อยากมีบ้าน หรือการมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาในอนาคต ซึ่งตรงนี้ก็ต้องวางแผนให้ดี เช่น การหารายได้จากหลายทางการลงทุน หรือฝากเงินในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือเวลาเราช่วยกันเลือกซื้อของเข้าบ้าน ก็จะคิดถึงความคุ้มค่ามากขึ้นครับ จริง ๆ ก็เหมือนในทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจหรือส่วนตัว เราก็จะยึดคติว่า Little by little, a little makes a lot.


ติดตามเรื่องราวและดูสินค้าของ Little Lot ได้ที่
เว็บไซต์ Little Lot : http://www.littlelot.toys/
เฟซบุ๊ก Little Lot : https://www.facebook.com/littlelot.family/

ขอบคุณสถานที่: The 66 Cottage

 


เพราะเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม
เริ่มก้าวแรกเล็ก ๆ ทางการเงินที่ดีแบบ little by little ได้ด้วยตัวคุณเอง แค่เปลี่ยนมาใช้บัญชี ออลล์ฟรี


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเลย!

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด