external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

เราเรียนรู้อะไรจากโควิค...?

บทเรียนจากโควิด.. ฉบับ ‘ลูกหนี้’ วางแผนให้ดี ต้องคิดก่อนสร้างหนี้

#จัดการหนี้

28 ธ.ค. 2564

บทเรียนจากโควิด-19 ฉบับลูกหนี้ ท่านใดต้องการคำแนะนำเรื่องสินเชื่ออย่างเหมาะสม


“การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ” ดูจะเป็นประโยคที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความดีงามของการไม่เป็นหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่สู้ดี “หนี้” ก็คือภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันที่เกิดจากผลของพันธะทางการเงินที่เราก่อขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อสินทรัพย์

ความจริงแล้ว การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากเราใช้มันเป็น บริหารมันได้อย่างถูกวิธี และรู้จักเตรียมพร้อมรับมือด้วยความรอบคอบแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ดังที่เกิดวิกฤตโรค COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้สอนบทเรียนไว้หลายเรื่องที่ในฐานะ “ลูกหนี้” ควรได้เรียนรู้


ความไม่แน่นอนกับการบริหารความเสี่ยง

วิกฤตครั้งนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของการบริหารเงินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ พ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากจะต้องบริหารกระเป๋าเงินของธุรกิจแล้ว ยังต้องคอยบริหารกระเป๋าเงินของตัวเองให้อยู่รอดได้ในเวลาเดียวกัน รวมถึงลูกจ้างพนักงานประจำ ที่ได้รับความเสียหายในหน้าที่การงาน รายได้ลดลง หรือบางคนถูกจ้างออกก็ไม่มีรายได้เข้ามาเลย

ในเวลาที่รายได้ลดลงหรือหายไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ “รายจ่าย” โดยเฉพาะค่างวดจากสินเชื่อที่เราสร้างไว้นั้น ยิ่งก่อหนี้เยอะก็ยิ่งต้องแบกรับกับภาระที่หนักหนาสาหัสเช่นกัน

สาเหตุหนึ่งมาจากการกู้ยืมโดยลืมนึกถึง “ความเสี่ยง” ของหน้าที่การงานและรายได้ หลายคนมักคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราอย่างมั่นคง จึงตัดสินใจก่อหนี้บนพื้นฐานรายได้ที่คิดเอาเองว่ามีความมั่นคงสูง ดังนั้นก่อนจะสร้างหนี้ก้อนใหม่ควรนึกถึงความจำเป็นในการสร้างหนี้ ความเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น และต้องคิดถึงความไม่แน่นอนในกรณีเลวร้ายที่สุดเอาไว้เสมอ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้นั้นมาทำร้ายเราได้ในภายหลัง

ไม่ควรสร้างภาระหนี้เกินกว่า 40-45% ของรายได้ เพื่อให้เราต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป


อย่าลืมคำนวณภาระค่าใช้จ่าย เพื่อเตรียมเงินสำรอง

วิกฤตครั้งนี้สอนให้รู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกคนควรมีแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง “เงินสำรอง” นับเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องการเงินส่วนบุคคล ที่จะช่วยให้เราสามารถอยู่รอดได้เมื่อวิกฤตเกิดขึ้น สำหรับคนที่มีภาระหนี้เยอะก็ควรจะต้องเตรียมเงินสำรองเอาไว้มากกว่าปกติ

ยกตัวอย่าง นายเอ และ นายบี มีเงินเก็บสำรองอยู่ 50,000 บาทเท่ากัน มีค่าใช้จ่ายในการกินอยู่เท่ากัน 10,000 บาทต่อเดือน และโดนปลดจากงานประจำในช่วงวิกฤตพร้อมกัน นายเอ ไม่มีภาระหนี้ อาจจะพอกินอยู่อย่างอย่างประหยัดไปได้อีก 5 เดือน ส่วนนายบี มีภาระหนี้ที่ซื้อรถยนต์ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้เดือนละ 6,000 บาท เท่ากับว่านายบี จะใช้เงินเก็บเพื่อกินอยู่ได้ไม่ถึง 4 เดือน

หากนายบีต้องการจะอยู่รอดในสภาวะวิกฤตได้อย่างเหมาะสมก็ควรเตรียมเงินสำรองเพิ่ม โดยนำภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหนี้เข้าไปคำนวณรวมเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ดังนั้น หากนายบีต้องการเตรียมเงินสำรองสำหรับภาระรายจ่าย 5เดือนก็ควรมีเงินสำรองเอาไว้ (10,000+6,000)x5 = 80,000 บาท

ทั้งนี้เงินสำรองฉุกเฉินควร อย่างต่ำควรสำรองเอาไว้ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน (อย่าลืมนับรวมภาระหนี้สินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายด้วย)


ลดภาระ เพิ่มรายได้ จัดการหนี้ให้เป็นระบบ

ยังโชคดีที่ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งให้ทางเลือกในการพักชำระหนี้เพราะมองเห็นถึงโอกาสเสี่ยงที่ลูกหนี้จะชำระคืนไม่ไหว ในขณะเดียวกันลูกหนี้ก็ควรเข้าใจด้วยว่านี่เป็นโอกาสในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น มาตรการนี้ไม่ได้ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ตลอดไป

ลูกหนี้หลายคนก็ใช้ช่วงเวลานี้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างตรงไปตรงมา ต้องการปรับเปลี่ยนภาระหนี้ไม่ให้หนักเกินไปในภาวะวิกฤต ใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ รวมเอาหนี้ทั้งหมดที่มีมาไว้กับสถาบันการเงินเพียงเจ้าเดียว

เพื่อสะดวกต่อการชำระ ช่วยลดภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนลงได้ และที่สำคัญการจัดการหนี้ยังช่วยให้เราชำระคืนหนี้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นผลดีกับการรักษาเครดิตของตัวเองอีกด้วย

สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า เราจะชำระคืนหนี้ได้อย่างไร? ใช้วิธีไหน? และไม่ควรก่อภาระหนี้เกินสัดส่วนเท่าไหร่ของรายได้? ควรตั้งคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง และจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบระเบียบ เพราะมาตรการช่วยเหลืออาจช่วยบรรเทาเบาบางได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น สุดท้าย “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่วิกฤตครั้งนี้สอนเรา

หลายต่อหลายครั้งธนาคารก็มีทางออกที่ดีและพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ทุกคนในช่วงวิกฤตให้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นอยู่เสมอ หากลูกหนี้ท่านใดต้องการคำแนะนำเรื่องสินเชื่ออย่างเหมาะสม สามารถเข้ามาปรึกษาธนาคารทหารไทยธนชาตได้ทุกสาขา หรือโทร ttb contact center 1428 เพื่อชีวิตการเงินที่ดีขึ้น : )

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด