external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

ทริกวางแผนการเงินให้อุ่นใจ ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน

15 มิ.ย. 2564

การมาของโควิด-19 ทำให้เราเห็นเลยว่าอะไรที่เคยแน่นอน วันนี้อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว วันดีคืนดีอาจตกงานกะทันหัน บริษัทปิดตัว หรือเจ็บป่วยจากโรคร้ายแบบไม่รู้ตัว!

เมื่อเราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น “การวางแผนการเงินให้รอบคอบ” จึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญยิ่งกว่าเดิม จนอาจจะเรียกว่าเป็น New Normal ของคนในยุคปัจจุบันไปแล้วก็ได้ ยิ่งถ้าวันนี้ใครยังไม่เริ่ม ต้องเริ่มแล้ว อย่าปล่อยให้ช้าไปมากกว่านี้

คำถาม คือ ถ้าช่วงนี้อยากวางแผนการเงินเพื่อสร้างความอุ่นใจ แบบที่ไม่เสี่ยงมาก แต่สามารถให้เงินทำงานงอกเงย มีโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว แถมได้ประหยัดภาษีแบบคุ้ม ๆ ควรจะเริ่มต้นอย่างไรให้ถูกวิธี วันนี้ FinSpace มีคู่มือง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แบบที่ใครก็ทำตามได้ในแบบ Financial Well-Being มาฝาก

ก่อนอื่นอยากชวนทุกคนรู้จัก "เส้นทาง 4 ระดับ สู่เป้าหมายทางการเงิน" ซึ่งเป็นเหมือนตัวช่วยให้เราเข้าใจเป้าหมายการเงินด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ นั่นคือ เก็บออม - ป้องกัน - ต่อยอด - ส่งต่อ

1. เก็บออม
การออมเงินเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดสู่เป้าหมายต่าง ๆ ก็ว่าได้ ยิ่งเราเริ่มออมไว ก็ยิ่งช่วยให้ถึงฝันได้เร็วขึ้น และหัวใจของการออม ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นการทำอย่างสม่ำเสมอ อาศัยความ “ถึก อึด ทน” เพื่อให้เงินก้อนเล็ก สะสมเป็นเงินก้อนใหญ่

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังของการออมเงินอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ที่การจัดการรายรับ-รายจ่าย เข้าใจสถานะการเงินของตัวเอง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าหากสามารถทำได้ก็จะเป็นฐานที่แข็งแรงสู่บันไดขั้นต่อไป

2. ป้องกัน
เมื่อเป้าหมายชัดเจน ออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอ และมี mindset ทางการเงินที่ดีแล้ว ลำดับถัดมานั่นคือการบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เงินต้นที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบหายไปง่าย ๆ จากเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เรื่องนี้เราสามารถป้องกันได้ ทั้งสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง อย่างเช่นการทำประกัน รวมไปถึงการวางแผนภาษี ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหากเราวางแผนภาษีเหมาะสม ก็จะสามารถปกป้องเงินส่วนนั้น กลับมาเป็นเงินออม หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

3. ต่อยอด
การลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงยจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น ซึ่งแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องการแตกต่างกัน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เที่ยวต่างประเทศ สร้างครอบครัว หรือวางแผนเกษียณ ดังนั้น จึงควรเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองและยังตอบโจทย์กับเป้าหมายนั้น ๆ ด้วย

4. ส่งต่อ
เมื่อถึงจุดที่เราอยู่ตัวแล้ว เป้าหมายสูงสุดของหลายคนคงเป็นการส่งต่อความมั่นคงไปให้คนที่เรารัก ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องผ่านการวางแผนที่ดีอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ขั้นแรก ด้วยการวางแผนเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งต่อเป็นมรดกให้คนข้างหลัง

เมื่อรู้หลักการของการตั้งเป้าหมายแล้วสิ่งถัดมาจึงเป็นการเลือกเครื่องมือทางการเงินให้เหมาะกับเป้าหมายแต่ละด้าน แล้วถ้าจะถามว่ามีสินทรัพย์ไหนบ้าง ที่ตอบโจทย์เป้าหมายแบบนี้ เราเช็กลิสต์มาให้แล้ว

1. ออมเงินสำรองฉุกเฉิน
เก็บไว้ไหนดี : ฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง, กองทุนตลาดเงิน, กองทุนตราสารหนี้, ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ระยะสั้น – กลาง

เงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งแรกที่ต้องมีสำหรับทุกคนไม่ว่าคุณจะมีรายได้มากหรือน้อย ก็ควรมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 6 - 12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยออมไว้ในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง และชนะเงินเฟ้อได้ เพราะเวลาเจอเรื่องไม่ทันตั้งตัว เช่น ถูกลดเงินเดือน ตกงาน ขาดรายได้ เศรษฐกิจแย่ เงินส่วนนี้จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในช่วงที่ขาดรายได้หรือระหว่างที่ต้องหางานใหม่

2. ป้องกันความเสี่ยง
เก็บไว้ไหนดี : ประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครอง, ประกันสุขภาพ - อุบัติเหตุ, ประกันภัยทรัพย์สิน

เมื่อบริหารการเงินของตัวเองได้ดี จนมีเงินเหลือสำรองยามฉุกเฉิน และสะสมเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ลำดับถัดมาที่ควรคิดก็คือการหาตัวช่วยมาถ่ายโอนความเสี่ยงใน “ชีวิต” “สุขภาพ” และ “ทรัพย์สิน” อย่างการมีประกันที่ครอบคลุม เพื่อแลกกับความคุ้มครองที่มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ๆ เช่น เป็นโรคร้ายแรง ทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานได้ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ก็จะได้ไม่กระทบต่อสถานะการเงินของตัวเอง หรือคนข้างหลัง

3. ลดหย่อนภาษี
เก็บไว้ไหนดี : ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, กองทุน RMF, กองทุน SSF

เรื่องภาษีเป็นสิ่งที่หนีไม่ได้ แต่สามารถวางแผนภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ เพราะหากเราวางแผนภาษีเป็นอย่างดี ก็อาจได้เงินคืนภาษีจำนวนไม่น้อย ก็เท่ากับว่าทุก ๆ ปี เราจะมีเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปออมหรือต่อยอดการลงทุนได้มากขึ้น

4. ต่อยอดความมั่งคั่ง
เก็บไว้ไหนดี : หุ้น, กองทุนรวมหุ้น, กองทุนรวมผสม, ทองคำ, อสังหาฯ

เมื่อทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง การออมเงินไปเรื่อย ๆ เพียงอย่างเดียวไม่พอแน่ ๆ สำหรับสานฝันที่ใหญ่ขึ้น แต่ต้องควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินให้งอกเงยด้วย ซึ่งแต่ละคนนั้นล้วนมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน การเลือกสินทรัพย์ หรือจัดพอร์ตการลงทุน จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน อาทิ เงินต้น ประสบการณ์ เป้าหมายในชีวิต ผลตอบแทนที่ต้องการ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้

5. ส่งต่อความมั่นคง
เก็บไว้ไหนดี : ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ, ประกันสะสมทรัพย์ระยะยาว, กองทุนบำเหน็จ – บำนาญ

สุดท้ายแล้ว เมื่อมั่นใจว่ามีเงินเหลือมากพอ และนำเงินส่วนเกินไปลงทุนต่อยอดจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้แล้ว คงต้องคิดแล้วว่าเราจะส่งต่อทรัพย์สินเหล่านี้ให้คนข้างหลังอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนมรดก

โดยหนึ่งในวิธีที่เลือกใช้ได้ คือ การนำเครื่องมือทางการเงินมาช่วย อย่างเช่นการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อการันตีเงินก้อนให้ลูกหลาน รวมถึงการประกันสะสมทรัพย์ระยะยาว และกองทุนบำเหน็จ - บำนาญ ควบคู่กันไปด้วยก็ได้

จะเห็นได้ว่า สินทรัพย์ทางการเงินแต่ละอย่าง ก็เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต่างกัน แต่หากใครกำลังมองหาตัวช่วยที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่อง "เก็บออม คุ้มครอง ลดหย่อนภาษี" และสามารถลดความเสี่ยงได้ดีในช่วงตลาดผันผวนแบบนี้ แนะนำว่าการนำเงินมาวางไว้กับ "ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์" นับเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว

ข้อดีของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เหมาะกับคนที่อยากบังคับตัวเองให้มีวินัยการออม แล้วได้ผลตอบแทนแน่นอน ตรงตามที่วางแผนไว้ แถมได้รับความคุ้มครองชีวิต และนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย


Author

FinSpace
เพจเจ้าของ Lifestyle Content ที่จะเป็นแรงบันดาลใจและช่วยยกระดับชีวิต เพิ่มความรู้ของผู้อ่าน ด้วยความเชื่อว่าการมีสถานะการเงินที่ดีจะนำมาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้น

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด