ประเด็นเรื่องอัตราค่าเงินบาท กลับมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้ง ภายหลังจากที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่อัตราค่าเงินบาทของไทยได้มีการปรับตัวแข็งค่า กว่า 3% ลงมาใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่เคยแข็งค่าในระดับนี้ไปล่าสุดเมื่อช่วงสิ้นปี 2562 การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างมีนัยยะสำคัญในครั้งนี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นแรงกดดันที่รุนแรงต่อการเติบโตของภาคการส่งออกไทย ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเรื่อยๆในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมาและเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ที่เป็นความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
โดยทั่วไปนั้น การแข็งค่าของเงินบาทเปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างชาติอื่นๆ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มีผลมาจากความต้องการเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท โดยสิ่งที่อาจจะแตกต่างกันไปในการแข็งค่าของเงินบาทในแต่ละครั้ง อยู่ที่ปัจจัยหรือสาเหตุที่ส่งผลทำให้ความต้องการเงินบาทมีการเพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง แต่ค่าเงินบาทก็มีการแข็งค่าจากผลของการไหลเข้าของเงินลงทุนไทยที่เคยลงทุนในต่างประเทศ ไหลเข้ากลับมาเนื่องจากภาคธุรกิจและสถาบันการเงินมีการปรับลดความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งการนำเงินลงทุนที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเหล่านี้ ให้เป็นสกุลเงินบาท ส่งผลให้ความต้องการสกุลเงินบาทในระบบเพิ่มสูงขึ้น เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาททำให้ค่าเงินบาทนั้นแข็งค่า
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในเดือนพฤศจิกายน มีสาเหตุที่แตกต่างออกไปจากการแข็งค่าของเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากสาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้มาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย โดยในเดือนพฤศจิกายนมีการลงทุนจากต่างชาติรวมทั้งสิ้น 6.7 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท และลงทุนในตลาดตราสารทุน 3.2 หมื่นล้านบาท การไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติในเดือนพฤศจิกายนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 3% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาในเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นยอดที่สูงที่สุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วที่มียอดการไหลของของเงินทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
สาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับทิศทางการลงทุนของเงินลงทุนต่างประเทศที่มีการปรับย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯและผลการพัฒนาวัคซีนที่เป็นไปในเชิงบวก ส่งผลเกิดมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรสหรัฐฯ มาเลือกหาผลตอบแทนที่สูงในตลาดเอเชียที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีและสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง ซึ่งการเข้ามาของเงินทุนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสเงินทุนที่จะมีการไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ในปีหน้า การไหลเข้าของเงินทุนก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีก อันเป็นผลมาจากความต้องการหาผลตอบแทนที่ที่สูงขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (Search for yield) ที่คงยังมีอยู่ต่อไป และส่งผลให้มีการเคลี่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่จะกดดันแนวโน้มค่าเงินบาทไทยให้มีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นอีกในปีหน้า ร่วมกับปัจจัยอื่นๆอย่างการเกินดุลการค้าของไทย ดังนั้น การบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทผ่านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อเข้ามาดูแลในเรื่องของการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจ เพื่อช่วยกันหาทางช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ธุรกิจการส่งออกและธุรกิจการท่องเที่ยว สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง