external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

วิธีเตรียมสมองให้ฟิต ลดเหนื่อยล้าหลังหยุดยาว

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #การทำงาน #ความเหนื่อยล้า #DigitalFatigue

17 ส.ค. 2566


  • ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) คือ ?
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue)
  • เราควรปรับตัวอย่างไร ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
  • สิ่งที่ควรทำระหว่างวัน ให้รู้สึกไม่เหนื่อยล้า

 

ผ่านช่วงเทศกาลกันมา หลาย ๆ คนคงได้ไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ กลับมามีแรงทำงานต่อ แต่แน่นอนว่าบางคนก็มีภาวะเบื่อหน่าย แค่เปิดคอมพิวเตอร์มาก็รู้สึกไม่อยากทำงานแล้ว ยิ่งหลังกลับมาจากการพักผ่อน ต้องมาอยู่หน้าจอตลอดทั้งวัน ก็จะรู้สึกเกิดความเหนื่อยล้าและสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเครียด หรือทำให้เกิดอาการ ที่เรียกว่า ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue)


ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) คือ ?

สภาวะความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล มีผลกระทบมาจากการใช้งานอุปกรณ์เครื่องมือดิจิทัลมากเกินไป เช่น ใช้งานโซเซียลมีเดียเป็นเวลานาน หรือการทำงานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน จนทำให้รู้สึกอ่อนล้า หมดพลังงาน หมดไฟ เริ่มความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่มั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ


สาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล


สาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue)

1. แสงสีฟ้าจากการมองหน้าจอ : 'แสงสีฟ้า' เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะผลการศึกษาของ Harvard Health ได้อธิบายไว้ว่า ความยาวคลื่นสีฟ้าจะกระตุ้นให้สมองเกิดความสนใจ ซึ่งมีประโยชน์ในตอนกลางวัน แต่จะส่งผลกระทบในตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ ต่อเนื่องไปถึงสภาวะด้านอารมณ์ และยังส่งผลให้เกิดอาการปวดตาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานอีกด้วย

2. ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม : ร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อนั่งทำงานทั้งวัน และยิ่งการนั่งทำงานที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน พร้อมท่านั่งที่ผิด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย เช่น อาการปวดหลัง ข้อเข่าเสื่อม และยังทำให้ร่างกายไม่หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินหรือฮอร์โมนประโยชน์อื่น ๆ ที่มาจากการออกกำลังกาย แน่นอนว่าการขาดสารเหล่านี้ส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่สูงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้

3. การถูกรบกวนทางดิจิทัล : จากสถิติโดย Gartner พบว่า พนักงานที่่ Work from Home จะเกิดปัญหาการถูกรบกวนมากกว่าพนักงานที่ทำงานแบบออฟไลน์ถึง 2.54 เท่า โดยเฉพาะการแจ้งเตือนจากข้อความ อีเมล หรือผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียอื่น ๆ ตลอดเวลา ซึ่งหากเมินเฉยก็อาจทำให้พลาดข้อมูลข่าวสารไปได้ ทำให้สูญเสียทั้งสมาธิ และเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว

4. รู้สึกต้องทำงานตลอดเวลา : หรือที่เรียกว่า Always-on mindset กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพทางจิตใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เหมือนว่าระยะเวลาทำงานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน จนเกิดเป็นแรงกดดันและสร้างความรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น

ซึ่งเราสามารถจัดการความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) ของตัวเองได้ง่าย ๆ เพียงทำงานทีละอย่าง เพื่อลดความเหนื่อยล้า การปรับท่านั่ง การพักออกไปทำอะไรอย่างอื่น หรือการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อความสดชื่นในการทำงาน


สิ่งที่ควรทำตอนตื่นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น พร้อมทำงาน


สิ่งที่ควรทำตอนตื่นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น พร้อมทำงาน

1. ตื่นแล้วอย่างีบต่อเด็ดขาด เพราะการงีบหลับหลังตื่นนอนจะทำให้รู้สึกขี้เกียจ และทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานระหว่างวัน

2. เปิดเพลงให้ดัง เพิ่มจังหวะสนุก ๆ จะช่วยให้สดใสในตอนเช้า อีกทั้งช่วยกระตุ้นไฟในสมอง ทำให้สารต่าง ๆ อย่างโดฟามีน ออกมากระตุ้นอารมณ์ต่าง ๆ

3. อาบน้ำเย็นให้ร่างกายสดชื่น ปลุกสมองให้ตื่นขึ้นได้

4. รับประทานอาหารเช้า นอกจากดีต่อสุขภาพกายแล้ว อาหารเช้ายังช่วยเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อสมองได้ทั้งวัน และช่วยให้อารมณ์สดใสได้ด้วย

5. ดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำหนึ่งแก้วทันทีหลังจากตื่นจะช่วยทำให้กระบวนการเผาผลาญร่างกายดีขึ้น และยังทำให้สมองสดชื่นด้วย


สิ่งที่ควรทำระหว่างวัน ให้รู้สึกไม่เหนื่อยล้า

1. หลีกเลี่ยงการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่ายขึ้น และนั่นจะใช้เวลามากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียวถึง 40% ซึ่งการทำงานทีละอย่างจะเป็นการดีต่อสมองมากกว่า

2. จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน (To do list) แนะนำว่าให้เขียนด้วยมือ แทนที่จะพิมพ์หรือจดลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ และทำให้จดจำได้มากขึ้นอีกด้วย

3. พักสายตาระหว่างทำงาน เพราะการเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ การพักสายตาจึงจะช่วยให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย และสามารถทำงานได้ดีขึ้น

4. พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ การที่ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ จะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้สมองเฟรช ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เนื่องจากกาแฟนั้นทำให้ร่างกายขับปัสสาวะบ่อยและทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

แม้ว่าหลังไปเที่ยวพักผ่อนมา จะช่วยให้ร่างกายได้พัก แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกกลับมามีแรงพร้อมจะทำงาน เพราะในบางคนนั้นอาจจะต้องปรับตัวหลังหยุดยาว ต้องกลับมานั่งอยู่หน้าจอมากขึ้น เพราะฉะนั้น อย่าลืมที่จะพักสายตาจากหน้าจอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เพื่อให้ร่างกายได้พัก ไม่รู้สึกเหนื่อยล้ามากเกินไป และไม่ส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการทำงาน ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของตัวคุณเองด้วยเช่นกัน


ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ interpharma
เว็บไซต์ HR Note
เว็บไซต์ สาร MSU Online

ให้คะแนนความพึงพอใจ
ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์วันนี้ คุณพอใจมากน้อยแค่ไหน ?

รบกวนให้คะแนนเราหน่อยนะ

1
2
3
4
5
ไม่พอใจพอใจมากที่สุด